Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

898 views

กระทรวงการคลังแจงเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น ย้ำฐานะการคลังเข้มแข็ง พร้อมช่วยเหลือเยียวยาทุกภาคส่วน


จากกรณีที่มีผู้วิจารณ์ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยแย่ลงเรื่อย ๆ ฐานะการคลังมีความเปราะบาง จนอาจนำไปสู่การล้มละลายทางการคลัง และรัฐบาลไม่ดูแลประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยนั้น

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ทั้งในด้านความต้องการซื้อจากต่างประเทศ และความต้องการซื้อภายในประเทศ สะท้อนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี ประกอบกับเครื่องชี้การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วและจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้วัดได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวดีขึ้นตามลำดับ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง และการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำวัคซีนมาใช้ในปี 2564 นี้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ ค่อย ๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ล่าสุด สำนักข่าว Bloomberg ได้ประเมินมุมมองอนาคตเศรษฐกิจของไทยปี 2564 ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจอันดับ 1 จาก 17 ประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market Economies) สะท้อนได้จากเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ความแข็งแกร่งในภาคการเงินระหว่างประเทศและศักยภาพในการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ อีกทั้ง Bloomberg ได้เผยแพร่ดัชนีประสิทธิภาพของระบบรักษาสุขภาพ (Bloomberg Heath-Efficiency Index 2020) โดยชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรก (อันดับที่ 9) ของประเทศที่มีระบบรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูง เหนือกว่าอีกหลายประเทศจากกลุ่มตัวอย่าง 57 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ แสดงให้เห็นถึงระบบสาธารณสุขของไทยที่มีประสิทธิภาพสูง

ในส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่าเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยในช่วงปีงบประมาณ 2557 – 2563 การจัดเก็บรายได้รัฐบาลขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2,074,660 ล้านบาท เป็น 2,391,570 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ต่อปี (Compound Annual Growth Rate) มีเพียงปีงบประมาณ 2557-2560 และ 2563 ที่การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิลดลงจากปีก่อนหน้า โดยในปีงบประมาณ 2563 รายได้รัฐบาลลดลงเนื่องจากผลกระทบของการระบาดโรค COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลก็จะมีแนวโน้มดีขึ้น

นางสาวกุลยา ย้ำว่าสถานการณ์ทางการคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง มีความมั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยระดับเงินคงคลังยังอยู่ในระดับที่เพียงพอสามารถรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป ทั้งนี้ ระดับเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 473,001 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นปีงบประมาณก่อนหน้า ถึงร้อยละ 49.5 นอกจากนี้ ในส่วนของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.1 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับร้อยละ 52.1 ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60 ซึ่งหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

สำหรับประเด็นด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการผ่านการให้แหล่งเงินต้นทุนต่ำ ภายใต้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่าง ๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้กำหนดกลไกลดความเสี่ยงด้านเครดิตผ่านการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขยาดย่อม หรือ บสย. และในปัจจุบันยังมีมาตรการด้านการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ยังดำเนินการอยู่และครอบคลุมผู้ประกอบการ SMEs ในทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป ผู้ประกอบการ SME ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อยต่าง ๆ เช่น พ่อค้า แม่ค้าในตลาด เป็นต้น รวมทั้งมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้จัดกลุ่มลูกหนี้และพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ทั้งนี้ กลไกการช่วยเหลือดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ SMEs ในต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับความช่วยเหลือควรเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังพอมีศักยภาพทางธุรกิจ แต่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่อาจขาดศักยภาพหรืออยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้าง กระทรวงการคลัง โดย บสย. ได้จัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center ที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้และแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มดังกล่าวนี้ด้วย และเพื่อให้การกำหนดมาตรการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์และผลการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาอย่างใกล้ชิด ตลอดจนแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ และพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างทันการณ์ต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส