Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

917 views

ผู้ว่าการ รฟม. ระบุอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม 62 บาท ตลอดสายเป็นฐานราคาเพื่อเปิดประมูล คาดเก็บจริง 15-45 บาท พร้อมย้ำรัฐบาลมุ่งลดภาระค่าเดินทางแก่ประชาชน


ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเผยแพร่กรณีตั้งข้อสงสัยถึงการที่กระทรวงคมนาคมคัดค้านการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี (ปี 2572-2602) โดยอ้างว่าราคาค่าโดยสารแพง คือ 65 บาทตลอดสาย ทั้งที่เมื่อเปรียบเทียบราคาตามข้อเท็จจริง จะพบว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวใกล้เคียงกับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนด้านงานโยธาจากรัฐบาล ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐบาล จึงสงสัยว่ากระทรวงคมนาคมจะลดราคาค่าโดยสารสายสีส้มลงเหมือนที่พยายามคัดค้านการขยายสัมปทานสายสีเขียว โดยอ้างว่าค่าโดยสารแพงเกินไปด้วยหรือไม่ และรัฐบาลจะแบกรับภาระค่าชดเชยได้อย่างไร

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยยึดตามเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request for Proposal: RFP) ได้ระบุอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 เริ่มต้นที่ 17 บาท คิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3 – 4 บาท/สถานี เมื่อผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานีขึ้นไป โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่ใช้ในการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ (รายงาน PPP) ของ รฟม. ที่กำหนดเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี พ.ศ. 2566 – 2567 ซึ่งคำนวณตามมาตรฐานราคาค่าโดยสารของ รฟม. (MRT Assessment Standardization)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับเอกชนทุกรายใช้อ้างอิง ในการประเมินรายได้ของเอกชนเพื่อจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการฯ แต่ยังไม่ใช่อัตราค่าโดยสารจริง โดยคาดการณ์ว่าเมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ในปี พ.ศ. 2567 ค่าโดยสารจะเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท (โดยใช้สมมติฐานที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี) ซึ่ง รฟม. ได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคมให้เจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดในการปรับลดอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพและประชาชนยอมรับได้

นอกจากนี้ เมื่อการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ในขั้นตอนการประเมินข้อเสนอของเอกชนแล้วเสร็จ รฟม. จะเจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นพื้นฐานอัตราเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู และสายสีเหลือง และเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว เมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามสายในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม. ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มีเจตนารมณ์ให้โครงการรถไฟฟ้าของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เหมาะสม ทั้งอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นและอัตราค่าโดยสารสูงสุด จะต้องพิจารณาพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร ระยะเดินทางเฉลี่ยของผู้โดยสาร และความเต็มใจในการจ่ายค่าโดยสารของประชาชน เป็นต้น ดังนั้นกรณีที่กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดที่ 104 บาท (เป็นราคาค่าโดยสารตลอดทั้งสาย โดยกทม.จะเริ่มเก็บตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 64 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นราคาจากสัมปทานเดิม แต่หากขยายสัมปทานออกไปเป็น 30 ปี คาดราคาตลอดทั้งสายจะอยู่ที่ 65 บาท แต่หากไม่ขยายสัมปทาน ภาครัฐโดยกทม. ต้องจ่ายหนี้กว่า 1 แสนล้านบาทให้กับ BTSC) โดยพิจารณาเทียบกับระยะทาง 84 กิโลเมตร คิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ย 1.23 บาท/กิโลเมตร อาจไม่ได้สะท้อนค่าโดยสารจริงที่ประชาชนพึงพอใจในการจ่ายค่าเดินทาง เนื่องจากไม่ได้นำปัจจัยด้านพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารมาประกอบการพิจารณาด้วย

นอกจากนี้ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นบริการสาธารณะ ดังนั้นอัตราค่าโดยสารจึงควรเป็นอัตราที่เหมาะสมและประชาชนยอมรับได้ ซึ่งกิจการรถไฟฟ้าไม่ใช่กิจการที่ภาครัฐลงทุนเพื่อมุ่งทำกำไรเป็นหลัก จึงต้องพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารอย่างรอบคอบ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนแทนการใช้รถส่วนตัว ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดแล้ว ยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่หนาแน่นในเขตกทม.และปริมณฑลในปัจจุบันได้ด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส