กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 มุ่งขับเคลื่อนมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) ครอบคลุมทั้งด้านคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงสอดรับกับแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 พร้อมคุมเข้มความปลอดภัยของยานพาหนะทุกประเภทและพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนทุกรูปแบบ ควบคู่กับการดูแลความปลอดภัยในการสัญจรในทุกเส้นทาง เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจกับชีวิตวิถีใหม่ที่ห่างไกลอุบัติเหตุทางถนน
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลห่วงใยความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 จึงได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ”
ช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 – 4 มกราคม 2564 โดยบูรณาการการทำงานในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงสอดรับกับแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและสร้างวินัยจราจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน รวมถึงปรับปรุงถนนและสภาพแวดล้อมริมทางให้ปลอดภัย คุมเข้มความปลอดภัยของยานพาหนะทุกประเภท ทั้งสภาพรถ อุปกรณ์นิรภัย ความพร้อมของพนักงานขับรถ กวดขันรถกระบะที่บรรทุกน้ำหนักเกินและรถบรรทุกขนาดเล็กที่บรรทุกผู้โดยสารในลักษณะเสี่ยง เฝ้าระวังและป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะขับรถเร็ว
ดื่มแล้วขับ และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ควบคู่กับการดำเนินมาตรการ “ตรวจวัดแอลกอฮอล์” กรณีเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือมีผู้เสียชีวิต สร้างการรับรู้มาตรการบังคับใช้กฎหมาย สถานการณ์อุบัติเหตุ การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยผ่านทุกช่องทางสื่อ ตลอดจนจัดหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพกู้ภัย และเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ และส่งต่อผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างรวดเร็วในทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจกับชีวิตวิถีใหม่ที่ห่างไกลอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาการดำเนินงานความปลอดภัยทางถนนในทศวรรษหน้า พ.ศ. 2565 – 2575 โดยจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กรอบ 12 เป้าหมายโลกในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน และปฏิญญาสตอกโฮล์ม เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้บรรลุเป้าหมายการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 8 คนต่อประชากร 1 แสนคนภายในปี พ.ศ. 2575
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ผ่านกลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด อำเภอ และองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนผ่านกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ โดยกำชับองค์กรปกครองส่วนถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร และจิตอาสาคุมเข้มลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในรูปแบบของการจัดตั้งด่านชุมชน การใช้กลไกด่านครอบครัว ควบคู่กับการดำเนินมาตรการเชิงรุกในรูปแบบการเคาะประตูบ้าน อีกทั้งดูแลความปลอดภัยเส้นทางสัญจรทางน้ำ สถานที่จัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างความปลอดภัยเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองประธานกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนคนที่หนึ่ง กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ภายใต้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนตลอดทั้งปี จะเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการสั่งการ และเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่สอดรับกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กับศูนย์ปฏิบัติการฯ ระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการฯ หลักรับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยในช่วงรณรงค์ 7 วันแห่งความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 63 – 4 ม.ค. 64 จะมีการประชุมร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฯ ในระดับพื้นที่ ติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในพื้นที่ เพื่อวางมาตรการและปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนนและเชื้อไวรัสโควิด – 19