Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

1319 views

กรมโยธาธิการฯ ยืนยันการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งโครงการบ้านมั่นคงฯ รังสิตไม่กีดขวางทางระบายน้ำ ส่วนการรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำคลอง ชาวบ้านส่วนใหญ่ยินดีเข้าร่วมโครงการ


กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการถมดินคลองเปรมประชากรเพื่อก่อสร้างโครงการบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต ปทุมธานี ผิดกฎหมายหรือไม่ จากเดิมพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นคลองสาธารณะกว้าง 50 เมตร แต่เมื่อถมดินแล้วเหลือความกว้าง 20 เมตร ซึ่งอาจทำให้น้ำท่วมพื้นที่รังสิตในอนาคตนั้น

นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงว่าการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จังหวัดปทุมธานี เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลอง และการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชาชากร สำหรับงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองเปรมประชากร กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำแผนงานขอรับสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ดังนี้ คืองบประมาณปี 2563 (งบผูกพันปี 2563 – 2565) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองเปรมประชากรจากคลองบ้านใหม่ถึงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ (ระยะที่ 1) อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ความยาว 628 เมตร ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานก่อสร้าง สัญญาจ้างเลขที่ 75/2564 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ระยะเวลาก่อสร้าง 700 วัน เริ่มสัญญา 30 พฤศจิกายน 2563 สิ้นสุดสัญญา 30 ตุลาคม 2563 วงเงินค่าก่อสร้าง 64,260,000 บาท โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ว่าจ้าง และบริษัท แอล.พี.พี. ซีวิลคอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง โดยผลการดำเนินงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 27% เร็วกว่าแผนการดำเนินงานก่อสร้าง

สำหรับงบประมาณปี 2564 (งบผูกพันปี 2564 – 2566) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองเปรมประชากร จากคลองบ้านใหม่ถึงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ (ระยะที่ 2) อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ความยาว 1,100 เมตร งบประมาณ 130 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งต่อเนื่องเขื่อนเดิม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารแบบก่อสร้างและราคาค่าก่อสร้าง ประกอบการประกวดราคาแผนงานขอรับงบประมาณปี 2565 (งบผูกพันปี 2565 – 2567) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองเปรมประชากร จากคลองบ้านใหม่ถึงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ (ระยะที่ 3) อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ความยาว 1,300 เมตร งบประมาณ 140 ล้านบาท และการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งต่อเนื่องเขื่อนเดิม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการสำรวจ ออกแบบ และจัดทำรายการประกอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ยืนยันว่าการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ไม่ได้กีดขวางการระบายน้ำ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่คลองรังสิตแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นแนวก่อสร้างที่คณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร เป็นผู้กำหนด เมื่องานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแล้วเสร็จ คลองเปรมประชากรจะมีความกว้างไม่น้อยกว่า 25 เมตร ซึ่งไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเป็นแนวป้องกันไม่ให้เกิดการรุกล้ำพื้นที่คลองได้อีกในอนาคต

นอกจากนี้ กรณีที่ชาวบ้านชุมชนริมคลองอยู่อาศัยมากว่า 77 ปี ถูกไล่ที่และถูกบังคับให้ต้องเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง โดยต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินที่หน่วยงานรัฐประสานมาให้คนละ 5 แสนกว่าบาท ผ่อนชำระ 15-20 ปี เดือนละประมาณ 3,000 บาท ไม่รวมค่าเช่าที่ดินที่ต้องจ่าย หากใครไม่เข้าร่วมจะถูกกรมธนารักษ์ฟ้องขับไล่ ข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ กทม.จะถูก กทม.ฟ้องฐานบุกรุกและรุกล้ำกีดขวางทางน้ำ โดยอ้างว่าเป็นเหตุทำให้น้ำท่วม ฯลฯ นั้น

นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าชาวบ้านริมคลองเปรมประชากรมีบริเวณพื้นที่รื้อย้าย 628 เมตร เพื่อสร้างบ้านใหม่และเปิดพื้นที่ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองสร้างเขื่อนระบายน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาอยู่อาศัยในช่วงการสร้างหมู่บ้านเมืองเอก ประมาณ 30-50 ปีที่ผ่านมา บางครัวเรือนเพิ่งย้ายมาอยู่อาศัยในช่วง 10 ปีนี้ ไม่ใช่ 77 ปีตามที่กล่าวอ้าง และพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินราชพัสดุ โดยกรมธนารักษ์ดูแล

ส่วนที่ระบุว่าชาวชุมชนริมคลองถูกไล่ที่และถูกบังคับให้ต้องเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงนั้น ขอชี้แจงว่า ทุกครัวเรือนผ่านกระบวนการรับรองสิทธิเพื่อเข้าร่วมโครงการ และเกือบทั้งหมดยินดีเข้าร่วมโครงการ เพื่อเปลี่ยนจากผู้อยู่อาศัยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการอยู่อาศัยที่ถูกต้อง ด้วยการเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์และปลูกสร้างบ้านตามแบบที่ได้รับการอนุญาตจากท้องถิ่น ตามผังที่ได้ตกลงแบ่งปันที่ดินริมตลิ่งร่วมกัน โดยดำเนินโครงการเฟสแรก จำนวน 210 ครัวเรือน มีเพียง 3 ครัวเรือน ที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการและรื้อถอนบ้านเดิมที่ผิดกฎหมาย โดยมีการต่อต้าน 1 ครัวเรือน

สำหรับการกู้เงินเพื่อปลูกสร้างบ้านนั้น เป็นการกู้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ โดยสหกรณ์เคหสถานที่จัดตั้งขึ้นจากสมาชิกชุมชนในนามสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด กระจายไปแต่ละครัวเรือน ครัวเรือนละ 360,000 บาท จากราคาบ้านที่ประมาณการ 460,000 บาท โดยส่วนต่างเป็นการออมสบทบของสมาชิกและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ภาระการผ่อนครัวเรือนละ 2,580 บาท/เดือน ระยะเวลา 20 ปี นอกจากรัฐอุดหนุนเรื่องก่อสร้างบ้านเพื่อให้ชาวบ้านกู้เงินไม่สูงมากจนเกินภาระของครัวเรือนแล้ว ยังมีงบช่วยเหลือเรื่องระบบสาธารณูปโภค และค่าเช่าบ้านในช่วงรื้อย้ายบ้านเดิมและสร้างบ้านใหม่ รวมงบอุดหนุนให้แต่ละครัวเรือน 147,000 บาท

ส่วนการกำหนดแบบบ้านนั้น จะพิจารณาจากความสามารถในการรับภาระของครัวเรือนด้วย ซึ่งดูจากเงินออมทรัพย์สมทบต่อเดือน โดยมีสมาชิก 10 ครัวเรือนที่เลือกแบบบ้านชั้นเดียวเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพรายได้ มีภาระผ่อนชำระประมาณ 1,500 บาท/เดือน ส่วนภาระค่าเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ กรมธนารักษ์จะคิดค่าเช่าในอัตราผ่อนปรน ปัจจุบันเฉลี่ย 60 บาท/ครัวเรือน หรือปีละ 720 บาท ขนาดที่ดินต่อครัวเรือน 4X7 ตารางเมตร ไม่รวมพื้นที่ส่วนกลาง มีการปรับค่าเช่า 3 ปี/ครั้ง ครั้งละ 9% โดยประมาณการว่าค่าเช่าในปีที่ 28-30 จะอยูที่ครัวเรือนละประมาณ 120 บาท/เดือน โดยค่าเช่ารวม 30 ปีต่อครัวเรือน รวมไม่เกิน 30,000 บาท

ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาคลองเปรมประชากรทั้งระบบทำให้ต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำคูคลอง เพื่อเปิดพื้นที่สร้างเขื่อนระบายน้ำป้องกันน้ำท่วม ขณะเดียวกันประชาชนจะได้พัฒนาที่อยู่อาศัย จากเดิมที่มีสภาพเป็นชุมชนแออัด บ้านเรือนทรุดโทรมและมีสถานภาพบุกรุก กลายเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง โดยจะมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน พัฒนาสิ่งแวดล้อมและคูคลองต่อไป

ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 9/2560 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่องการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกลำน้ำสาธารณะ โดยให้พัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อประโยชน์ด้านการระบายน้ำ ป้องกันปัญหาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และให้มีการยกเว้น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ.ผังเมือง เรื่องระยะถอยร่นต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการได้

การดำเนินการดังกล่าวมีคณะดำเนินงาน ประกอบด้วย คณะอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างบุกรุกลำน้ำสาธารณะ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและพัฒนาพื้นที่ริมคลองเปรมประชากร ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนแม่บทฯ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 คณะทำงานดำเนินการพัฒนาพื้นที่คลองเปรมประชากร แม่ทัพภาคที่ 1 และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 1 เป็นประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่คลองเปรมประชากร ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และคณะทำงานกำหนดแนวเขตคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร พื้นที่จังหวัดปทุมธานี ปลัดอำเภอเป็นหัวหน้าคณะทำงาน

นอกจากนี้ ผลการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ริมคลองเปรมประชากร ระบุว่าคลองเปรมประชากรมีความยาวทั้งสิ้น 50.8 กิโลเมตร จากอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงคลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือคลองผดุงกรุงเกษม-ถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาว 9.8 กิโลเมตร อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร พื้นที่ริมคลองเป็นสถานที่ราชการและก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแล้ว ไม่มีการบุกรุกพื้นที่คลองแต่อย่างใด และคลองรังสิตประยูรศักดิ์-แม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 24 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี 16 กิโลเมตร และอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 8 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีเขียว ไม่มีการบุกรุกพื้นที่คลอง และพื้นที่ถนนเทศบาลสงเคราะห์-คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ความยาว 17 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 13 กิโลเมตร และจังหวัดปทุมธานี 4 กิโลเมตร มีบ้านเรือนก่อสร้างบุกรุกพื้นที่คลองตลอดแนว โดยแผนแม่บทฯ ได้กำหนดให้มีการรื้อย้ายและดำเนินการก่อสร้างบ้านมั่นคงให้กับบ้านและชุมชนที่ถูกรื้อย้าย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ก่อสร้างเขื่อน และในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส