พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า เพื่อให้การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ช่วงปลายปี 2563 ต้นปี 2564 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตามมติคณะรัฐมนตรี จึงได้สั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ดำเนินการ 6 มาตรการ ได้แก่
1 ถือปฏิบัติตามหลักในการอำนวยการ สั่งการ ควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2 ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุสำหรับใช้แก้ปัญหาในพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำรายละเอียดการแบ่งพื้นที่ การกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนถึงระดับอำเภอและตำบล ตลอดจนการจัดชุดปฏิบัติการที่สามารถเข้าไปยังจุดที่ก่อให้เกิดการเผาหรือการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ครอบคลุมในทุกพื้นที่
3 ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์การเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี อาทิ ภาพถ่ายดาวเทียม และ Application เสริมประสิทธิภาพการติดตามตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศและการบัญชาการดับไฟป่า
4 เน้นย้ำการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งการควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ การก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน และสร้างการรับรู้ ความตระหนักให้แก่ประชาชน
5 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประสานอำเภอ อปท.ในพื้นที่ เร่งสร้างความเข้มแข็งและเสริมสร้างความรู้ให้ผู้นำชุมชน จิตอาสา อาสาสมัคร และประชาชน ในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระหว่าง ติดตาม และตรวจสอบคุณภาพอากาศ รวมทั้งขยายเครือข่ายแจ้งเตือน และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทราบถึงสถานการณ์ที่ถูกต้อง
6 ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ประชาชนให้ตระหนักถึงผลกระทบจากกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) แนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพ มาตรการต่าง ๆ ภาครัฐ และข้อกฎหมาย
ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่จังหวัดภาคอื่นที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ให้ปฏิบัติตามมาตรการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ” โดยในส่วน 4 พื้นที่ ได้แก่
1 พื้นที่ป่าสงวน/ป่าอนุรักษ์ ดำเนินการควบคุมไฟป่า จัดทำแนวป้องกันไฟ จัดกำลังลาดตระเวน บังคับใช้กฎหมาย ปิดป่าในช่วงประกาศห้ามเผา การทำป่าเปียก/ป่าชื้น ฯลฯ ผู้นำท้องที่ตั้งกฎกติกาการห้ามเผาป่าในหมู่บ้าน/ชุมชน และจัดทำบัญชีผู้มีพฤติกรรมเข้าป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์
2 พื้นที่เกษตรกรรม ควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร จัดระเบียบบริหารเชื้อเพลิง รณรงค์การใช้สารย่อยสลายหรือไถกลบตอซังข้าว/ข้าวโพด/ซากวัชพืช ส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการแปรวัสดุการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า จัดอาสาสมัครเฝ้าระวังไม่ให้เกษตรกรลักลอบเผา
3 พื้นที่ชุมชน/เมือง ให้จังหวัด อำเภอ และอปท. กำหนดกติการ่วมกันของชุมชน ใช้กลไกประชารัฐ เฝ้าระวัง ป้องกัน การเผาในพื้นที่ชุมชน/เมือง การฟอกอากาศ/การสร้างเมืองต้นไม้ การกำหนดพื้นที่ปลอดมลพิษ (Safety Zone) และจัดชุดปฏิบัติการประจำตำบล/หมู่บ้าน ประชุมชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ให้ทราบมาตรการและแนวทางภาครัฐ
4 พื้นที่ริมทาง โดยจัดกำลังอาสาสมัครภาคประชาชนลาดตระเวน เฝ้าระวัง และกำจัดเศษวัสดุ ขยะ ใบไม้แห้ง ที่เป็นเชื้อเพลิงในพื้นที่ริมทาง เพื่อไม่ให้มีเชื้อไฟและใช้เป็นแนวกันไฟ
ในส่วนมาตรการบริหารจัดการ 5 มาตรการ ได้แก่
1 ระบบบัญชาการเหตุการณ์ โดยให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดและอำเภอ เป็นองค์กรหลักในการอำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร และประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์
2 สร้างความตระหนัก สร้างการรับรู้กับประชาชนทราบถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และการส่งเสริมให้ประชาชน นักเรียน เยาวชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า
3 ลดปริมาณเชื้อเพลิง จัดทำแนวกันไฟ ควบคุมการเผา ส่งเสริมการใช้สารหมักชีวภาพเพื่อย่อยสลายตอซัง และการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาทำอาหารสัตว์ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน สอดส่อง ตักเตือน ห้ามปราม ผู้ที่จุดไฟเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยเฉพาะตามเขตรอยต่อระหว่างชุมชนกับเขตป่าไม้
4 การบังคับใช้กฎหมาย ให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และจับกุมผู้กระทำความผิดที่ลักลอบเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชน/เมือง และพื้นที่ริมทาง
5 ทีมประชารัฐ โดยบูรณาการทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและกำหนดแนวทาง มาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน