Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

1126 views

กรมอุทยานแห่งชาติฯแจงรายประเด็น! 3 ข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหาชุมชนก่อนขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก


นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงกรณีกลุ่มชาวบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 23 คน ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก ผ่านสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกโลก (UNESCO) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาชุมชน ก่อนยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่ามรดกโลก โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ประเด็นนั้น

1.ประเด็นขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเสร็จสิ้นก่อน เพราะปัจจุบันการแก้ไขปัญหายังแทบไม่มีความคืบหน้าใด
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงว่าการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านบางกลอยต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยขณะนี้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เสร็จแล้ว และได้ส่งมอบแผนที่แสดงการสำรวจการครอบครองที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้ราษฎรบ้านโป่งลึก และบ้านบางกลอย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 โดยบ้านบางกลอย มีราษฎรมาแจ้งและร่วมสำรวจการครอบครอง จำนวน 99 ราย ทำการสำรวจได้ 143 แปลง เนื้อที่ประมาณ 627 – 3 – 93 ไร่ ขณะที่บ้านโป่งลึก มีราษฎรมาแจ้งและร่วมสำรวจการครอบครอง จำนวน 122 ราย ทำการสำรวจได้ 160 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 1,320 – 0 – 93 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง โดยจัดทำโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้สิทธิในที่ดินนั้น เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ต่อไป

2.ประเด็นชาวบ้านบางกลอย ขอกลับไปทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย การที่ราษฎรจะอาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติจะต้องอยู่ภายในขอบเขตที่ดินของตนเอง ที่ผ่านการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตอนุรักษ์และอยู่ในหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2564

3.ส่วนประเด็นกรณีที่ชาวบ้านบางกลอยบางส่วน ต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กับ มท. เพื่อกลับไปใช้ชีวิตดังเดิม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่สามารถอนุญาตได้ เนื่องจากขัดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และหากไม่มีการป้องกันและปล่อยให้พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกทำลาย จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำต้นแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี ตลอดจนทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าต่อไป

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยืนยันพื้นที่ที่ราษฎรบ้านบางกลอยอาศัยอยู่ในปัจจุบัน มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริบ้านโป่งลึก – บางกลอย ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน การส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา การส่งเสริมการสาธารณสุข การส่งเสริมอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ วิถีชีวิต ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส