Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

1165 views

กัญชา-กัญชง ส่วนไหนปลดล็อกยาเสพติด ?



ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงมติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ในประเด็นการจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติดนั้น

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศดังกล่าวและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ที่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว เป็นการระบุว่าสิ่งใดจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และสิ่งใดที่ยกเว้น ซึ่งกัญชาและกัญชงยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพียงแต่ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ได้จากการปลูกหรือผลิตในประเทศ และไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และเส้นใย รวมถึง สารสกัดที่มี CBD เป็นส่วนประกอบและกากที่เหลือจากการสกัด ซึ่งต้องมี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 เมล็ดกัญชงน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอื่น ๆ ได้ ประชาชนสามารถใช้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชา กัญชง ทั้งนำไปประกอบอาหาร ทำยารักษาโรค เป็นต้น

ย้ำ !! ส่วนที่ยังเป็นยาเสพติดและยังไม่ได้รับการปลดล็อกจากยาเสพติด ได้แก่ ช่อดอกกัญชาและกัญชง รวมทั้งเมล็ดกัญชา

“ที่สำคัญการปลูก สกัด และผลิต ทั้งหมดยังต้องขออนุญาตจาก อย. ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ระบุผู้มีคุณสมบัติขออนุญาต คือ หน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย เป็นต้น โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐตามเงื่อนไข

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนปลูก สกัด ผลิตยังต้องขออนุญาต แต่หลังจากนั้นพวกวัตถุดิบที่เหลือ ยังเปลือก ลำต้น เส้นใย ฯลฯ ที่ปลดล็อกแล้วสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ โดยผู้ที่จะนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปใช้จะต้องนำมาจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูก สกัด ผลิตเท่านั้น ซึ่งก็จะมีเลขที่อนุญาต หรือสอบถามทาง อย.ได้ว่า ใครได้รับอนุญาต”


ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า เหตุที่ยังปลดทุกส่วนของต้นกัญชา กัญชงออกจากยาเสพติดไม่ได้เนื่องจากติดอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น การปลูกกัญชาและกัญชงยังคงต้องขออนุญาตตามกฎหมายยาเสพติด แต่เมื่อปลูกไปแล้วส่วนที่มีสาร THC ต่ำ ไม่เป็นอันตราย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องทำลายทิ้ง โดยผู้ขออนุญาตจะต้องแจ้ง อย.ว่าจะนำส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดไปใช้ประโยชน์อย่างไร ส่วนการนำกัญชาไปใช้จะต้องได้มาจากผู้รับอนุญาตที่ถูกกฎหมาย โดยตรวจสอบได้จาก www.fda.moph.go.th หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่โทรศัพท์ 1556 กด 3


ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข https://bit.ly/3mo6C9w


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส