จากกระแสข่าวมีรายงานในประเทศจีนว่า พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส จำนวน 44 ราย จากเมืองอู่ฮั่น แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต นั้น
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวยืนยันว่า ประเทศไทยมีมาตรการดูแลโรคซาร์ส และมีมาตรการสกัดตามด่านทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการระบาดในประเทศไทย ขอให้มั่นใจระบบสาธารณสุขของไทยไม่เป็นสองรองใคร
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางการจีนได้ดำเนินการสอบสวนโรคและอยู่ระหว่างการตรวจหาสาเหตุ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค
แต่ ไม่ใช่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก อะดิโนไวรัส หรือโรคทางเดินหายใจที่พบได้ทั่วไป
ยืนยัน ประเทศไทย ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยโรคซาร์ส (SARS)
ยกเว้นเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกที่ป่วยด้วยโรคซาร์ส และเดินทางเข้ามารับการรักษาที่ประเทศไทย โดยไม่มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม
สำหรับประเทศจีน เคยมีโรคซาร์สระบาดเมื่อปี 2546 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 349 ราย
มาตรการเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบเข้าประเทศไทย
คัดกรองอาการไข้ และอาการที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ในผู้ที่เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น เข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะสายการบิน และสนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต
กำหนดให้เที่ยวบินที่เดินทางมาจากสนามบินอู่ฮั่นเข้าจอดที่หลุมจอดอากาศยาน 33 และติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนจำนวน 2 เครื่องเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสาร หากพบผู้โดยสารที่มีไข้สูง ด่านควบคุมโรค จะดำเนินการตามขั้นตอน และส่งต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร ต่อไป ซึ่งยังไม่พบผู้มีความเสี่ยง
ประเทศไทย ประกาศให้โรคซาร์ส (SARS) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งต้องมีการรายงานผู้ป่วยที่สงสัย ทำการแยกกัก โดยมีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตราย ซึ่งมีในทุกจังหวัด และในส่วนกลางอีก 8 ทีม
รู้ไหม โรคซาร์ส เกิดจากอะไร
โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง สาเหตุมาจากเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส (Coronavirus) เดิมพบการติดเชื้อนี้เฉพาะในสัตว์ที่มีขนาดเล็ก ต่อมามีการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ขึ้น และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ มีอาการอย่างไร
ช่วงแรกจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
มีอาการติดเชื้อที่ปอดและทางเดินหายใจ เช่น ไอแห้ง หรือหายใจลำบาก เป็นต้น
ถ้าต้องเดินทางไปประเทศที่มีผู้ติดเชื้อปอดอักเสบ ต้องทำยังไง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่มีมลภาวะที่เป็นพิษ
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว
- รักษาร่างกายให้อบอุ่น อยู่เสมอ
สำหรับคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวมได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ที่มา : ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค