นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือกับสุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม (H.E. Sultan Ahmed bin Sulayem) ประธานกลุ่มบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท DP World บริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่ของโลก ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ระหว่างการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นการหารือต่อเนื่องจากนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปีที่ผ่านมา โดยบริษัท DP World เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทย ที่มีความพร้อมในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เพราะตั้งอยู่ในจุดที่ได้เปรียบพร้อมใช้ประโยชน์จากที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการ Land Bridge โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค
โดยบริษัท DP World สนับสนุนไทยในการพัฒนาสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD : Inland Container Depot ) ลาดกระบัง ให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์ระดับภูมิภาคแบบหลายรูปแบบ (Multi-modal) สำหรับการค้าข้ามพรมแดนระหว่างจีน อินโดจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายทางรถไฟ รวมทั้งโครงการท่าเทียบเรือชุด B ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับเรือและตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ รองรับการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งระดับประเทศและระดับโลก และ DP World พร้อมจะเดินหน้าศึกษาการลงทุนโครงการ Land Bridge เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคอาเซียนและเชื่อมโยงไปมหาสมุทรอินเดียและกลุ่มประเทศ BIMSTEC
นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับนายเรมี เอเจล (Mr. Remy Ejel) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย โอเชียเนีย และแอฟริกา (Chief Executive Officer Zone Asia, Oceania and Africa) บริษัทเนสท์เล่ (Nestlé) โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้เนสท์เล่ช่วยเกษตรกรไทย เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตร โดยเฉพาะเกษตรสมัยใหม่ และ smart farmer ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับความสะดวกแก่ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศที่จะเข้ามาขยายการลงทุนในไทย และเร่งขยายการเป็นพันธมิตรทางการค้าทั่วโลกด้วยการลงนามความตกลง FTA ไทย – EFTA ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนไทยและต่างประเทศที่จะลงทุนในไทยด้วย
ขณะที่เนสท์เล่ได้แสดงความมุ่งมั่นว่าจะลงทุนในประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมกาแฟไทย โดยในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2567 เนสท์เล่ได้ลงทุนในประเทศไทยเพื่อขยายสายการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟ เครื่องดื่ม UHT และอาหารสัตว์ รวมสูงถึงกว่า 22,800 ล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2568 และในอนาคต บริษัทจะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายสายการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในโรงงานผลิตเนสกาแฟ และสนับสนุนเกษตรกรไทยในการขยายพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ รวมทั้งจะสนับสนุนการให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกกาแฟแก่เกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง และรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรไทยในราคาที่เป็นธรรม เหมือนเช่นที่เคยสนับสนุนเกษตรกรไทยมาตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา
นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับนายเจมส์ ควินซีย์ (Mr. James Quincey) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Coca-Cola ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มครบวงจรสัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย พร้อมชื่นชมการมีส่วนร่วมของบริษัทฯ ในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเพื่อติดตามความคืบหน้าความร่วมมือที่สำคัญระหว่างกัน โดยเฉพาะการบังคับใช้พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Sustainable Packaging Management Act) ของไทย
ซึ่งนายกรัฐมนตรีชื่นชมบริษัท Coca-Cola ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน พ.ร.บ. ดังกล่าว ตลอดจนเห็นว่าทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงด้านน้ำ (water security) และการส่งเสริม Soft Power ซึ่งบริษัท Coca-Cola มีความเชี่ยวชาญและพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติกับไทย
นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับนายสเตฟาน อูลริช กรรมการบริหารบริษัทไบเออร์ เอจี และผู้บริหารสูงสุดแผนกฟาร์มาซูติคอล โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมภาคการเกษตร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ อาทิ ข้าว ข้าวโพด เพื่อพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่สามารถเพิ่มผลผลิต รวมทั้งนวัตกรรมใหม่เพื่อการพัฒนาด้านสาธารณสุข ทั้งยาและสุขภาพ รัฐบาลมีนโยบาย “30 บาท รักษาทุกที่” เพี่อให้คนไทยเข้าถึงการบริการสาธารณสุขและยาได้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาและวิจัยด้านการแพทย์และยา เชื่อว่าจะสามารถร่วมมือกับบริษัทไบเออร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพและการเกษตร นอกจากนี้ ไทยยังตั้งเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น AI ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเยาวชนด้วยการ upskilled -reskilled เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้างโอกาสและรายได้ใหม่ๆ ให้กับประเทศ รวมถึงนโยบาย “บ้านเพื่อคนไทย” เพี่อให้โอกาสคนไทย ได้มีบ้าน ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการดูแลคุณภาพชีวิตคนไทย
ทางด้านกรรมการบริหารบริษัทไบเออร์ เอจี และผู้บริหารสูงสุดแผนกฟาร์มาซูติคอล ชื่นชมวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในการลงทุนในทรัพยากร “คน” จะช่วยให้ไทยสามารถล้ำหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น อุตสาหกรรมยาและสุขภาพ บริษัทฯ มั่นใจว่าจะมีวิทยาการใหม่ๆ เช่น ความรู้ด้านเซลล์บำบัด (cell therapy) รวมทั้ง AI ที่ก้าวหน้า สามารถเปลี่ยนแปลงการดูแลสุขภาพ และบริษัทฯ ยินดีจะร่วมมือกับประเทศไทยสนับสนุนการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย การเพิ่มผลผลิตของเกษตรกร
ด้วยการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตอย่างมีคุณภาพ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับนาย Michel Demaré ประธานกรรมการ (Chair of the Board) บริษัท AstraZeneca จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายเวชภัณฑ์ระดับโลก โดยนายกรัฐมนตรี ขอบคุณบริษัท AstraZeneca ที่ให้ความสนใจและมีส่วนร่วมกับประเทศไทยทั้งการช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์ในภูมิภาคและได้แสดงความยินดีที่ได้ทราบถึงบทบาทผู้นำระดับโลกของบริษัท AstraZeneca ในการคิดค้นยารักษาโรคที่สำคัญของโลกที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนทั่วโลก รวมถึงการมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดเกิดใหม่ พร้อมย้ำถึงโอกาสที่ดีหากทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือในการศึกษา วิจัย และพัฒนา โดยไทยมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งไทยมีโรงเรียนแพทย์ที่สามารถผลิตแพทย์และบุคลากรทางแพทย์ที่มีคุณภาพ จนทำให้การแพทย์และการบริการสาธารณสุขไทยได้รับความไว้วางใจในหมู่คนต่างชาติ โดยเฉพาะจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม โดยเปิดกว้างและพร้อมรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมทั้งยินดีสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนากับบริษัท AstraZeneca
ขณะที่ประธานกรรมการบริษัท AstraZeneca ชื่นชมศักยภาพของไทยในด้านการแพทย์ และพร้อมแบ่งปันองค์ความรู้ด้านยาและการดูแลสุขภาพที่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าให้กับพันธมิตรและหุ้นส่วนไทย ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านชีวการแพทย์ และพัฒนาการเข้าถึงด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ non-communicable diseases (NCDs) ในประเทศไทย
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum (WEF) และประธานคณะกรรมการ ผู้ดูแลผลประโยชน์องค์กร (Chairman of the Board of Trustees) ที่ศูนย์ประชุม Davos Congress Centre เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส โดยนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จะนำเสนอ “Soft power” ไทยในการประชุมครั้งนี้ด้วยและไทยพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับ WEF อย่างต่อเนื่องในด้านที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ขณะที่ ศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป มั่นใจไทยมีศักยภาพพร้อมขยายความร่วมมือผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับ WEF ได้อีกมาก โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี การเกษตรและอาหาร
นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของประเทศผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ผ่าน Forum ของ WEF ในปีนี้ นอกจากนี้ ไทยสนใจที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WEF Special Meeting ในปี 2569 และความเป็นไปได้ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Young Global Leaders’ Summit เพื่อเสริมพลังเยาวชน ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่ บ่มเพาะความคิดใหม่ ๆ และสร้างนวัตกรรมในระดับโลก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้เชิญศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป ร่วมเป็น keynote speaker (วิทยากรคนสำคัญ) ในการประชุม ACD High-level Conference on Global Architecture ในเดือนพฤษภาคม 2568 ที่จังหวัดภูเก็ตด้วย
นายกรัฐมนตรี หารือกับศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ โดยบังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งภาคเอกชนไทยหลายบริษัทเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการเร่งขับเคลื่อนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับบังกลาเทศ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน โดยมีเป้าหมาย มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส มั่นใจว่า ไทย-บังกลาเทศ จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยชื่นชมที่ไทยประสบความสำเร็จในการนำแนวคิด micro finance ไปปรับใช้โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนแก่ผู้มีรายได้น้อยให้มีอาชีพและชีวิตที่ดีขึ้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวเชิญศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส เป็นผู้บรรยายพิเศษ ในการประชุม Young Gen Forum ที่ไทยจะจัดในห้วงการประชุม BIMSTEC Summit ครั้งที่ 6 ในวันที่ 4 เมษายน 2568
ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก่อนจะส่งมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ให้แก่บังกลาเทศ โดยเชื่อมั่นว่า ภายใต้ตำแหน่งประธาน BIMSTEC บังกลาเทศจะมีบทบาทสำคัญในการขยายความร่วมมือต่างๆ ในภูมิภาคต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน Thailand Reception ณ Plenary Hall Lobby ศูนย์ประชุม Congress Center เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความงดงามและจิตวิญญาณของประเทศไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งของไทย ทั้งในด้าน Soft Power เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงอาหารไทย ซึ่งมีชื่อเสียงด้านความหลากหลายและรสชาติที่ลงตัว อีกทั้งแฝงไปด้วยภูมิปัญญาและความพิถีพิถันของบรรพบุรุษ ซึ่งนำมาต่อยอดผสมผสานความทันสมัยและนวัตกรรม เพื่อรองรับความต้องการด้านอาหารที่หลากหลายในโลก ซึ่งไทยมุ่งมั่น “หล่อเลี้ยงอนาคตสำหรับทุกคน” พร้อมเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานร่วมเดินทางสัมผัสประสบการณ์กับการรับประทานอาหารไทย ซึ่งไม่เพียงแค่การลิ้มรส แต่ยังได้เข้าถึงแก่นแท้ของความเป็นไทย ความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย และยังสะท้อนว่าอาหารไทยไม่เพียงอร่อย แต่ยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ประเทศไทยกำลังพัฒนาในภาคเกษตรกรรม โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI, หุ่นยนต์ และการเกษตรแม่นยำ เพื่อเพิ่มคุณภาพ ลดขยะ และเพิ่มผลผลิต โดยไทยกำลังลงทุนในนวัตกรรมเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรและอาหาร (agri-food tech innovations) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ภาคเกษตรกรรมของไทยจะมีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และพร้อมสำหรับอนาคต นอกจากนี้ ไทยยังพร้อมเป็นผู้นำในการพัฒนาธุรกิจด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในระดับโลก พร้อมเชิญชวนให้ผู้ลงทุนพิจารณาไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการลงทุน เนื่องจากประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาสและศักยภาพทางเศรษฐกิจ “ลงทุนในประเทศไทย ลงทุนในอนาคต” เริ่มต้นการเดินทางที่น่าจดจำไปด้วยกัน