17 views

ครม. เห็นชอบ 3 กลุ่มโรคเข้าลักษณะยกเว้นการตรวจเลือกทหารกองประจำการ และอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….


ครม. เห็นชอบกำหนดให้ 3 กลุ่มโรค “กลุ่มโรคตุ่มน้ำพอง โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด และโรคของเอนไซม์บนเม็ดเลือดแดง” เป็นลักษณะอาการโรคของคนจำพวกที่ 2 ที่ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วและให้ดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญ

ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ที่กระทรวงกลาโหมเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการเพื่อกำหนดเพิ่มลักษณะอาการของโรค จำนวน 3 กลุ่มโรค ได้แก่ 1) กลุ่มโรคตุ่มน้ำพอง 2) โรคลําไส้
โป่งพองแต่กำเนิด และ 3) โรคของเอนไซม์บนเม็ดเลือดแดง ผิดปกติ ชนิด G-6-PD (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) ที่ทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ในร่างกายของทหารกองเกินที่จะเข้ารับการตรวจเลือกทหารเข้ากองประจำการ โดยกำหนดให้เป็นคนจำพวกที่ 2 เพื่อให้คณะกรรมการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองเกินประจำสามารถตรวจวินิจฉัย และกำหนดคนเป็นจำพวกได้ถูกต้องตามที่หลักเกณฑ์กำหนด โดยมีกฎหมายรองรับและกองทัพได้กำลังพลที่สมบูรณ์แข็งแรงเข้าไปปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง

ปัจจุบัน จากการตรวจเลือกที่ผ่านมาได้ตรวจพบลักษณะอาการของ 3 กลุ่มโรคนี้ ได้แก่ 1) กลุ่มโรคตุ่มน้ำพอง 2) โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด และ 3) โรคของเอนไซม์บนเม็ดเลือดแดงผิดปกติชนิด G-6-PD) ซึ่งปรากฏตามร่างกายหรือภายในร่างกายของบุคคลที่เป็นโรค และยังคงแสดงอาการของโรคทางร่างกาย เห็นได้ชัดว่า ไม่สมบูรณ์ดีเหมือน คนจำพวกที่ 1 (คนซึ่งมีร่างกายสมบูรณ์ดีไม่มีอวัยวะพิการ หรือผิดส่วนแต่อย่างใด) แต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ ซึ่งเป็นลักษณะอาการโรคของคนจำพวกที่ 2 แต่ปัจจุบันยังกำหนดให้เป็นคนจำพวกที่ 1 ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบหลักการของร่างกฎกระทรวงนี้แล้ว

กระทรวงกลาโหม จึงเห็นสมควรกำหนดให้คนที่มีอาการ 3 กลุ่มโรคดังกล่าว เป็นคนจำพวกที่ 2 ไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการในกรณีที่มีคนจำพวกที่ 1 มีจำนวนเพียงพอกับยอดความต้องการทหารกองประจำการ เพื่อให้การตรวจเลือกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะกรรมการตรวจเลือกสามารถกำหนดคนเป็นจำพวกได้อย่างถูกต้อง และกองทัพได้กำลังพลที่ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจด้านความมั่นคง

ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงกลาโหม เสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ปัจจุบันกองทัพบกได้มีการกำหนดหน้าที่และเขตพื้นที่ของมณฑลทหารบกขึ้นใหม่ตามกฎกระทรวงกำหนดหน้าที่และเขตพื้นที่ของมณฑลทหารบก พ.ศ. 2558 โดยได้ยกเลิกจังหวัดทหารบกทุกแห่งและกำหนดมณฑลทหารบก เป็นหน่วยทหารอยู่ในการปกครองบังคับบัญชาของกองทัพภาคเพิ่มขึ้น และต่อมาได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหาร พ.ศ. 2558 ขึ้นมา เพื่อยกเลิกเขตอำนาจศาลจังหวัดทหารบก และกำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหารบกเสียใหม่ โดยให้ศาลมณฑลทหารบกมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดทหารบก เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดหน้าที่และเขตพื้นที่ของมณฑลทหารบกที่เปลี่ยนแปลงไปตามกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ศาลจังหวัดทหารที่เป็นศาลทหารชั้นต้น เป็นอันยกเลิกไปทั้งหมด ศาลทหารชั้นต้นที่พิจารณาคดีได้ในปัจจุบันจึงมีเพียงศาลมณฑลทหาร ศาลทหารกรุงเทพ และศาลประจำหน่วยทหาร
 ((เดิม) ศาลจังหวัดทหาร มีเขตอำนาจศาลในคดีที่จำเลยมียศทหารชั้นประทวน ศาลมณฑลทหาร มีเขตอำนาจคดีที่จำเลยมียศทหารชั้นประทวนและชั้นสัญญาบัตร (ยกเว้นชั้นนายพล) ส่วนศาลทหารกรุงเทพ มีเขตอำนาจคดีที่จำเลยมียศทหารทุกชั้นยศ)

2. กระทรวงกลาโหม จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ขึ้น เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 เสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหารฯ ซึ่งเดิมพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 บัญญัติให้ศาลทหารในเวลาปกติ อัยการทหารหรือผู้เสียหายที่เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลเท่านั้น (เช่น นายทหาร นักเรียนเตรียมทหาร พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร) ที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหาร แต่ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารนั้นไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหารได้ด้วยตนเอง และกรณีศาลทหารในเวลาไม่ปกติหรือศาลอาญาศึก อัยการทหารเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหารและในกรณีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอาญาของศาลทหารในเวลาไม่ปกติและศาลอาญาศึกไม่ว่ากรณีใด ห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งทั้งสิ้น

กระทรวงกลาโหม พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยตนเองและสิทธิในการได้รับการพิจารณาทบทวนคำพิพากษาโดยศาลที่สูงกว่า จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้ผู้เสียหายซึ่งมิใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารสามารถใช้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาในศาลทหารได้ด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นกรณีศาลทหารในเวลาปกติและในเวลาไม่ปกติ เว้นแต่ในกรณีศาลอาญาศึกจะเป็นอัยการทหารเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมการให้อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งในคดีอาญาของศาลทหารในเวลาไม่ปกติเฉพาะกรณีที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกซึ่งไม่อยู่ในเวลาที่มีการรบหรือสถานะสงคราม ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับข้อบทที่ 14 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการ ในการพิจารณาคดีอาญา)

3. ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

    3.1 กำหนดให้ยกเลิกศาลจังหวัดทหาร (เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหารบก ขึ้นใหม่และยกเลิกเขตอำนาจศาลจังหวัดทหารทุกแห่งตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอำนาจศาลมณฑลทหารฯ)

     3.2 กำหนดให้ผู้เสียหายซึ่งมิใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาในศาลทหารได้ (เดิม ศาลทหารในเวลาปกติอัยการทหาร หรือผู้เสียหายที่เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหาร แต่ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหารด้วยตนเอง และกรณีศาลทหารในเวลาไม่ปกติหรือศาลอาญาศึก อัยการทหารเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหาร)

    3.3 กำหนดให้สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหาร ในเวลาไม่ปกติกรณีที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกซึ่งไม่อยู่ในเวลาที่มีการรบหรือสถานะสงคราม โดยตรงต่อศาลทหารสูงสุดได้
(เดิม คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารในเวลาไม่ปกติและศาลอาญาศึกไม่ว่ากรณีใด ห้ามไม่ให้อุทธรณ์หรือฎีกา
คำพิพากษาหรือคำสั่ง)

การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมซึ่งสอดคล้องกับข้อบทที่ 14 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส