นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบการขออนุญาตประกอบการค้าข้าวอำนวยความสะดวก เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยในการส่งออกข้าว เพื่อทลายทุนผูกขาดตามนโยบายของรัฐบาล 2 ส่วน คือ
ปรับเงื่อนไขการเก็บสต๊อกข้าวของผู้ส่งออก ที่มีผลบังคับใช้สิ้นเดือนมกราคมนี้ โดยกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ ไม่ต้องสต๊อกข้าว , ผู้ประกอบการรายย่อย ที่เป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 10 ล้านบาท ปรับลดสต๊อกข้าวจาก 500 ตัน เหลือ 100 ตัน ซึ่งการปรับปรุงสต๊อกข้าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามในประกาศแล้วและเตรียมจะนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป คาดว่าแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้
ปรับค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าวประเภทผู้ส่งออกทั่วไปและผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุหีบห่อ โดยกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมในการขออนุญาต , ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ขออนุญาตเป็นผู้ส่งออกทั่วไปบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 10 ล้านบาท ลดค่าธรรมเนียมให้จาก 50,000 บาท เหลือ 10,000 บาท สำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 10 – 20 ล้านบาท เหลือ 30,000 บาท , สำหรับผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ (ส่งออกแบบมีบรรจุภัณฑ์ ไม่เกิน 12 กิโลกรัม) ลดค่าธรรมเนียมให้จากเดิม 20,000 บาท เหลือ 10,000 บาท สำหรับการปรับลดค่าธรรมเนียมจะต้องออกเป็นกฎกระทรวง โดยต้องเสนอคณะรัฐมนตรี และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎกระทรวง คาดว่า แล้วเสร็จภายในมีนาคมนี้ จากนั้นจะดำเนินการต่อในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กสามารถผลิตและแข่งขันกับต่างประเทศได้
ปัจจุบันประชาชนมองหาสินค้าที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ สร้างแบนรด์ของตัวเองขึ้นมาเจาะตลาดให้มากขึ้น ดังนั้นการปรับลดสต๊อกข้าวและค่าธรรมเนียมให้เป็นประโยชน์กับผู้ส่งออกข้าวอย่างมาก โดยเฉพาะช่วยลดต้นทุนและเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถส่งออกข้าวได้เอง