นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการคลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย และนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางถึงเมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2568 แล้ว
โดยในวันพรุ่งนี้ (อังคารที่ 21 มกราคม 2568) ตลอดช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 09.00 -12.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนชั้นนำใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท DP World ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก ที่ประกอบกิจการด้านการท่าเรือและอาคารผู้โดยสารต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีการให้บริการด้านการเดินเรือทะเลและโลจิสติกส์ ที่มีสาขาธุรกิจทั่วโลกมากกว่า 500 แห่งใน 75 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 1 แสนคน ทั้งนี้เพื่อโอกาสการลงทุน เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ไทยเป็นโลจิสติกส์ฮับ และศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคนี้ ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพในด้านโลจิสติกส์อยู่ระหว่าง 2 คาบมหาสมุทรคือ มหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทย โดยเป็นการติดตามและต่อยอดจากการหารือระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในคราวการประชุม WEF เมื่อปีที่ผ่านมาด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะพบหารือกับผู้บริหารระดับสูง จากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำของโลก ได้แก่ บริษัท Nestle และบริษัท Coca-Cola เพื่อหารือในโอกาสขยายการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องผลักดันการเชื่อมโยงให้ภาคเกษตรของไทยเป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลิตต่างๆ ในอุตสาหกรรมอาหารสำหรับคนทั้งโลกของไทย ซึ่งบริษัท Nestle เป็นบริษัทจากยุโรปที่เก่าแก่ที่เข้ามาลงทุนในไทยยาวนานกว่า 130 ปี สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอาหารที่แข็งแกร่งของไทย ขณะที่ Coca-Cola เป็นหนึ่งในบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นเจ้าของเครื่องดื่มแบรนด์ดังมากกว่า 200 แบรนด์และเริ่มลงทุนในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 และยังเดินหน้าลงทุนนวัตกรรมใหม่ๆ ในไทย เพื่อพัฒนาธุรกิจ รักษ์สิ่งแวดล้อมในไทยอีกด้วย
ส่วนช่วงบ่ายนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยาและสุขภาพได้แก่ บริษัท Bayer และบริษัท Astrazeneca เพื่อนำเสนอโอกาสและศักยภาพของแรงงานชั้นสูงของไทยในอุตสาหกรรมภาคบริการ ทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และการบริการด้านสาธารณสุข Wellness and Medical Hub ชั้นนำในภูมิภาค จากนั้นในช่วงค่ำ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Opening Dinner) ซึ่งจัดโดย Professor Klaus Schwab (ศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร WEF ด้วย
นายกรัฐมนตรีมั่นใจที่จะใช้โอกาสในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์และนำเสนอโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยให้กับภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก เพื่อขยายการค้าและดึงดูดการลงทุน ให้เชื่อมโยงประเทศไทยเข้าไปอยู่ในหลากหลายกระบวนการผลิตในทุกภาคอุตสาหกรรม (supply chain) ในอุตสาหกรรมชั้นนำต่างๆ ของโลก รวมทั้งจุดประกายให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อสร้างโอกาสและรายได้ใหม่ๆ ให้กับคนไทยและประเทศไทย