(13 ม.ค. 68) คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการต่างประเทศ ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการต่างประเทศออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 ดังนี้
- ปรับปรุงแบบคำร้องขอจดทะเบียน จากเดิมคำร้อง 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1) คำร้องขอจดทะเบียนสมรส 2) คำร้องขอจดทะเบียนการหย่า 3) คำร้องขอจดทะเบียนการรับรองบุตร 4) คำร้องขอจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม และ 5) คำร้องขอจดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรม) ให้รวมเป็นคำร้องขอจดทะเบียนเพียงฉบับเดียว
- ปรับปรุงถ้อยคำในแบบคำร้องเป็นไม่ระบุเพศ เพื่อรองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ มีสิทธิหน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายหญิง เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567
- ปรับปรุงวิธีการจดทะเบียนของนายทะเบียนประจำสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ โดยกำหนดให้นายทะเบียนส่งข้อมูลการจดทะเบียนและการบันทึกข้อมูลให้สำนักทะเบียนกลางผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลการทะเบียน
- ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการขอคัดสำเนาทะเบียนให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการขอคัดสำเนาทะเบียนและมีการรับรองสำเนาทะเบียน ฉบับละ 300 บาท (เดิม ฉบับละ 2 บาท) และการขอทราบข้อมูลจากทะเบียนของสำนักทะเบียนกลาง รายละ 300 บาท (เดิม รายละ 4 บาท) ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน
มหาดไทยย้ำพร้อมทุกด้านรองรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 ม.ค. 68 นอกจากการเตรียมความพร้อมในด้านระเบียบ ระบบ ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องแล้ว กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองยังได้เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ ความพร้อม และการเริ่มต้นมีผลบังคับของกฎหมายสำคัญฉบับนี้ ให้เป็นที่รับรู้ทั้งในประเทศไทย ต่างประเทศ และทั่วโลกด้วย เพื่อแสดงให้เห็นความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านความเท่าเทียมทางเพศ
- วันที่ 23 ม.ค. 68 กฎหมายเริ่มมีผลใช้บังคับ กรมการปกครองจะจัดกิจกรรม “ตีฆ้องชัย ให้ทุกความรัก 878 อำเภอทั่วไทย” ที่ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่คาดว่าจะมีผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าขอจดทะเบียนสมรสจำนวนมาก ถือเป็นการเริ่มเฉลิมฉลองความเท่าเทียมทางความรัก ภายในงานจะมีการแสดง ขบวนขันหมากและพิธีจดทะเบียนสมรสสำหรับคู่รัก จำนวน 10 คู่ โดยมีผู้บริหารกรมการปกครองเป็นสักขีพยาน
- จัดเสวนาคลินิกกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม และการจัดนิทรรศการของผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของความเท่าเทียมในสังคมไทย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ดำเนินการปรึกษาหารือข้อกฎหมายกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขระเบียบและยกร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว ให้รองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนทั้งในสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักงานเขต ควบคู่ไปกับการเตรียมระบบคอมพิวเตอร์ และแบบพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งได้มีการซักซ้อมทดลองระบบในช่วงเดือน ธ.ค. 67 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในวันที่ 23 ม.ค. 68 กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ และที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขตทุกแห่ง สามารถเปิดให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้
เตรียมตัวก่อนจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
คุณสมบัติ
1. บุคคลทั้งสองจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ กรณีผู้เยาว์ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล
2. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
3. ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
4. ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
5. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
6. หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
- คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
- ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
- สมรสกับคู่สมรสเดิม
- บุคคลที่มีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้
- มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
1. คนไทยกับคนไทย บัตรประจำตัวประชาชน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD
2. คนไทยกับคนต่างชาติ บัตรประจำตัวประชาชนคนไทย หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD หนังสือเดินทางคนต่างชาติ หนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดสมรส
3. คนต่างชาติกับคนต่างชาติ หนังสือเดินทาง และหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดสมรส
ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ทั้ง 3 แบบ จะต้องมีพยาน 2 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ
กรณีผู้สมรส มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้มีอำนาจปกครองของผู้เยาว์ด้วย ไม่สามารถมายินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ หากมีสัญญาก่อนสมรสให้นำมาแสดงด้วย กรณีเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศต้องแปลเป็นภาษาไทยและผ่านการรับรองนิติกรเอกสารตามขั้นตอนของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
สถานที่รับจดทะเบียนสมรส
สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต และสถานทูต/กงสุลไทยในต่างประเทศทุกแห่ง
ค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
- การจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนที่จด ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
- การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน ต้องเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 200 บาท
สิทธิจากการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
- คู่สมรสมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
- คู่สมรสมีสิทธิในการใช้ชื่อสกุลของคู่สมรสอีกฝ่าย
- มีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส หรือที่เรียกว่าสินสมรสร่วมกัน
- มีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน มีสิทธิรับเงินจากทางราชการ หรือนายจ้าง เช่น
กรณีที่คู่สมรสตายเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน (บำเหน็จตกทอด) หรือ การรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน
- มีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิตได้
- สามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ตามกฎหมาย เมื่อพบว่าคู่สมรสมีชู้ ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสและชู้
- ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี
- คู่สมรสที่ทำความผิดระหว่างกัน เช่น สามีขโมยเงินกรรยา ภรรยาบุกเข้าบ้านสามี ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับ
โทษตามกฎหมาย
- การจดทะเบียนสมรสทำให้คู่สมรสฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายคู่สมรสของตัวเองได้ เช่น หากคู่
สมรสฝ่ายหนึ่งถูกโจรปล้น คู่สมรสอีกฝ่ายก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแทนได้