41 views

รัฐบาลบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ปัญหา PM2.5 “ลดต้นตอ-ป้องกัน-เฝ้าระวัง-แจ้งเตือน”


นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ว่า เป็นฝุ่นขนาดเล็กที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกับคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคร่วม ทำให้มีโอกาสเจ็บป่วยทั้งในระยะเฉียบพลันและเจ็บป่วยระยะเรื้อรังได้ง่าย ฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการระคายเคืองตา โรคทางเดินหายใจ ผิวหนังอักเสบ หรือผิวหนังเสื่อมชราเร็ว โรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ และภาวะสมองเสื่อม ทั้งนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีข้อแนะนำในการจัดสภาพบ้านให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุดังนี้  

1) ปิดประตู หน้าต่าง หรือช่องรูต่างๆ ให้มิดชิดกันฝุ่นละอองเข้ามาในบ้าน

2) ทำความสะอาดบ้านทุกวันโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหรือถู แทนการใช้ไม้กวาดหรือไม้ปัดฝุ่น

3) ไม่ทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นภายในห้อง เช่น จุดธูป จุดเทียน การเผา การใช้สารเคมีในอาคาร

4) เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อากาศภายในห้องเกิดการหมุนเวียน แต่ไม่แนะนำการใช้พัดลมดูดอากาศซึ่งจะดูดเอาอากาศและฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในบ้าน  

5) พิจารณาเลือกใช้เครื่องกรองอากาศอย่างเหมาะสม ไม่ควรวางไว้ใต้เครื่องปรับอากาศหรือติดกับพัดลม เพราะอากาศที่ยังไม่ถูกกรองจะถูกดูดเข้าเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมก่อนเข้าเครื่องกรองอากาศ และหลีกเลี่ยงการวางเครื่องกรองอากาศไว้ใกล้ห้องน้ำเพื่อกันการดูดความชื้นและปล่อยความชื้นออกมาทำให้ห้องอับเป็นเชื้อรา

หากพบว่าอากาศมีค่าฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์ปกติ ควรแนะนำผู้สูงอายุให้งดออกนอกบ้าน หรือหากจำเป็นควรสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่น เตรียมยาเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น ยาประจำตัว ยาสามัญประจำบ้าน และเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติในผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะหรือหมดสติ แนะนำให้พาผู้สูงอายุพบแพทย์ทันที

รัฐบาลจัด “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” ลดผลกระทบ PM2.5 มอบโรงเรียนขับเคลื่อนแผนการเรียนการสอน เปิด – ปิด เน้นความปลอดภัยเด็กนักเรียนเป็นสำคัญ

 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลห่วงใยความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เนื่องด้วยในช่วงนี้ประเทศไทยพบกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและสภาพอากาศที่หนาวเย็นที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะสิ่งที่ตามมาในช่วงฤดูหนาวของทุกปีคือการเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีสาเหตุเกิดจาก “การล้อมเกาะของอากาศ” ทำให้ฝุ่นและมลพิษที่สะสมอยู่ในอากาศไม่สามารถกระจายออกไปได้และอยู่ในพื้นที่จุดนั้นเป็นเวลานานปริมาณฝุ่นในอากาศจึงสูงขึ้น ซึ่งการเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้นได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนที่เปราะบางต่อการเจ็บป่วยและโรคทางเดินหายใจ ทำให้เด็กมีอาการแสบแน่นจมูก แสบตา ตาแดง มีไข้ ตัวร้อน หากทิ้งอาการเหล่านี้ไว้นานเด็กจะนอนกรน หลับไม่ลึก สมองขาดออกซิเจนทำให้ง่วง ความจำไม่ดี ส่งผลต่อการเรียน สมาธิสั้น มีพัฒนาการช้าหรือร้ายแรงสุดคือเสียหายถาวร 

เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 รัฐบาลได้เน้นย้ำให้มีการหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่เด็กต้องเผชิญกับฝุ่นและควันพิษโดยตรง เช่น การเข้าแถวหน้า
เสาธงตอนเช้า การออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง กิจกรรมวิชาลูกเสือ โดยควรให้เด็กอยู่ภายในอาคารให้มากที่สุด หรือหากมีความจำเป็นควรสวมหน้ากาก หากค่าฝุ่นสูงจนถึงขั้นวิกฤตให้สถานศึกษาพิจารณา เปิด – ปิด การเรียนการสอน  ตามที่เห็นสมควร โดยพื้นที่ใดอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน จากการเรียนในรูปแบบ On –site ตามปกติที่โรงเรียน ให้เปลี่ยนเป็นการนำส่งเอกสารแบบ On–hand ที่บ้านนักเรียน ผ่านการเรียนการสอนในรูปแบบการเรียน Online หรือเรียนแบบผสมผสานหลายรูปแบบแล้วแต่การวางมาตรการของสถานศึกษา

นายคารม กล่าวว่า เพื่อให้มาตรการดังกล่าวมีความครอบคลุมและเหมาะสมตามพื้นที่ ขอให้โรงเรียนเตรียมมาตรการ “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” โดยให้ดำเนินการวางแผนทั้งในด้านระบบการกรองอากาศที่ได้มาตรฐาน
มีห้องที่ปิดมิดชิด พร้อมด้วยการเสริมความปลอดภัยให้ห้องเรียนด้วยการใช้พัดลมดูดอากาศ ฉีดละอองน้ำจับฝุ่น เปิดช่องระบายให้อากาศถ่ายเท เล็กๆ เพื่อให้ฝุ่นเข้าได้น้อยที่สุด รวมถึงมีการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ผู้เรียนตระหนักถึงปัญหาฝุ่นพิษ พร้อมวางแนวทางการป้องกันและติดตามผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตและเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กทม. ขอความร่วมมือ ภาครัฐ-เอกชน WFH 20 – 21 ม.ค. 68 คาดการณ์ค่าฝุ่นสัปดาห์หน้าเป็นสีส้ม

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการปรับมาตรการ WORK FROM HOME (WFH) ตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพมหานครว่า จากการคาดการณ์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับค่าฝุ่น PM2.5 ในวันจันทร์และอังคารที่ 20 – 21 ม.ค. 68 พบว่า 1. มีเขตที่ค่าฝุ่นเข้าเกณฑ์สีส้ม 35 เขตขึ้นไป 2. อัตราการระบายอากาศไม่ดี คือ อยู่ระหว่าง 875 – 2,250 ตารางเมตรต่อวินาที  3. จุดเผา 5 วันที่ผ่านมา (11 – 15 ม.ค. 68)         เกินวันละ 80 จุด จึงประกาศ WFH ในวันที่ 20 – 21 ม.ค. 68 ซึ่งยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบว่าฝุ่น PM2.5 ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จะประกาศ WFH ต่อไปจนถึงวันที่ 24 ม.ค. 68 โดยได้มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้กับภาคีเครือข่าย WFH รับทราบล่วงหน้า เพื่อให้สามารถวางแผนการทำงานล่วงหน้า และลดผลกระทบกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วม

ปัจจุบันมีหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมกับ กทม. เป็นภาคีเครือข่าย WFH ประมาณเกือบ 100,000 คน จึงขอเชิญชวนหากใครประสงค์จะร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนกับ กทม. ได้ผ่านลิงก์ https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
โทร. 0 2203 2951

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ยังมีมาตรการอื่นๆ คือ โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บริหารใช้ดุลยพินิจปิดโรงเรียนตามสถานการณ์ฝุ่นและเกณฑ์ที่กำหนด เพิ่มมาตรการแนวทางปฏิบัติราชการวิถีใหม่ ให้ข้าราชการ กทม. ปรับการทำงานตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างเหมาะสม

ยอดรถยนต์ 6 ล้อ ขึ้นบัญชีสีเขียวเกินเป้า ช่วยลด PM2.5 จากภาคจราจรแล้ว 12%

กระทรวงเกษตรฯ มุ่งแก้ปัญหา PM2.5 ชวนลดและงด การเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร

นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) “ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และเพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน” ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของรัฐบาล ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างปลอดภัยด้วยการจัดการตอซังและฟางข้าว ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อปลอดการเผา และผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ให้แก่เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชน smart farmer ชาวนาอาสา ผู้นำองค์กรชาวนา และประชาชนทั่วไป ได้รับรู้ถึงผลกระทบจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วิธีการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ตลอดจนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการงดเผาตอซังและผลิตข้าวอย่างปลอดภัย เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จนเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการท่องเที่ยวหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ยังคงเผชิญวิกฤติฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับที่ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 2 ของโลก (การจัดอันดับ World’s Best Awards ของนิตยสารทราเวล แอนด์ เลซเซอร์ ปี 2559) ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นควัน สาเหตุหลักคือ การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จึงได้ร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการเผา ที่จะสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ “นาแปลงใหญ่”

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าว ได้มอบหมายให้สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรไม่เผาฟาง จึงได้คิดค้นจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์ที่ช่วยในการย่อยสลายตอซังและฟางในนาข้าว โดยมีประสิทธิภาพ สามารถย่อยสลายได้ภายใน 7 – 10 วัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้กับนาข้าว ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้สูงสุด 20% – 30% เพื่อให้เกษตรกรหยุดการเผาไร่นา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้อีกทางหนึ่ง และการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาค่ามลพิษทางอากาศ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งก๊าซมีเทนในนาข้าวเกิดจากการที่ข้าวไม่ใช่พืชที่ต้องแช่อยู่ในน้ำตลอดเวลา ดังนั้นการปลูกข้าวที่มีน้ำขัง จะทำให้เกิดเศษซากพืชปริมาณมากและเมื่อย่อยสลายแบบไร้อากาศจะเกิดก๊าซมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน

“เชียงใหม่โมเดล” แก้มลพิษและปัญหาหมอกควัน

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดตัวโครงการ “เชียงใหม่โมเดล” โดยอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนรับซื้อใบไม้จากประชาชนทุกหลังคาเรือนในพื้นที่ ตั้งเป้าหมายในการลดการเผา 100% และส่งเสริมการจัดการขยะใบไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2568 สำหรับโครงการ “เชียงใหม่โมเดล” ไม่เพียงแต่ลดการเผาและมลพิษเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประชาชนสามารถนำใบไม้ที่เก็บได้จากสวนหรือพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาแลกเงินในราคากิโลกรัมละ 1 บาท หรือ 1,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน สำหรับใบไม้ที่ได้จากการรับซื้อในพื้นที่จะนำไปทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกองสูตร “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” แล้วนำปุ๋ยหมักอินทรีย์ที่ได้ไปปลูกผักอินทรีย์และข้าว รวมถึงพัฒนาต่อยอดเป็นวัสดุ
ในการผลิตพลังงานทดแทน

มาตรการรับมือไฟป่า หมอกควัน ปี 68 ช่วยบรรเทาความรุนแรงปัญหาฝุ่นได้

นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการจัดทำมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ปี 2568 ที่ควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น ทั้งจากการเผาในพื้นที่ป่าเสี่ยงเผาไหม้ 14 กลุ่มป่า ควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร ได้แก่ นาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดการหมอกควันข้ามแดน ซึ่งจากการประเมินการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากการเผาในพื้นที่เกษตร การเผาอ้อยในช่วงฤดูเปิดหีบเกิดขึ้นประมาณ 48,000 ตัน การเผาในพื้นที่นาข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกิดขึ้นประมาณ 25,000 ตัน และ 17,000 ตัน ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความร่วมมือ และได้ปฏิบัติตามมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ปี 2568 มีการควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน ระงับการซื้ออ้อยในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นมีความรุนแรง รวมทั้งใช้มาตรการทางกฎหมายกับโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นจากปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยา ที่มีมวลอากาศเย็นปกคลุม อากาศนิ่ง อัตราการระบายอากาศค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกร ในการงดเผาในพื้นที่เกษตรทั้งอ้อย นาข้าว และข้าวโพด รวมทั้งขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลในการงดรับซื้ออ้อยจากการเผาเข้าหีบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส