35 views

รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระบาด ตั้งเป้ารับซื้อ 600,000 กก. เริ่มต้นเดือน กุมภาพันธ์นี้


นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่ยังคงมีการแพร่ระบาด ผ่านมาตรการเชิงรุก ตามข้อสั่งการของ ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือกำหนดแนวทางการรับซื้อ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และหลักปฏิบัติของการเข้าร่วมโครงการรับซื้อปลาหมอคางดำ พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานภายใต้กำกับเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ทั้งนี้  ได้กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 22 มกราคม 2568 นี้


นายอนุกูล กล่าวว่า  การยางแห่งประเทศไทยจะดำเนินการมาตรการเชิงรุก รับซื้อปลาหมอคางดำภายใต้โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ต่อเนื่องเป็นเฟส 2 โดยใช้งบประมาณเงินทุนหมุนเวียนจากทุน กยท. มาตรา 13 แผนปฏิบัติการดำเนินงานด้านธุรกิจ เป็นเงินจำนวน 12 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถรับซื้อปลาหมอคางดำได้ 600,000 กิโลกรัม โดย กยท. จะรับซื้อปลาหมอคางดำในราคา 15 บาท/กิโลกรัม (จ่ายให้กับชาวประมงหรือผู้จับปลามาขาย)  ส่วนค่าขนส่งและค่าบริหารจัดการรวบรวมจ่าย 5 บาท/กิโลกรัม  (จ่ายให้กับผู้รวบรวมหรือแพปลาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงและสหกรณ์ประมงที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยจะต้องนำส่งปลาให้ถึงโรงงานที่ กยท. ว่าจ้างในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี) ทั้งนี้ กยท. เร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้สามารถรับซื้อปลาหมอคางดำได้เร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าเริ่มรับซื้อได้ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพในเฟสแรก (1-24 สิงหาคม 2567) สามารถช่วยลดปริมาณปลาหมอคางดำจากระบบนิเวศถึง 581.44 ตัน (581,436.50 กก.) และสามารถผลิตน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ ทั้งหมด 930,298.40 ลิตร โดย กยท. จัดสรรน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่อยู่ในโครงการสนับสนุนแปลงใหญ่ยางพาราทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 353 แปลง ให้เกษตรกร และสมาชิก จำนวน 14,552 ราย ซึ่งพบว่าชาวสวนยางที่นำน้ำหมักชีวภาพไปฉีดพ่น สามารถช่วยให้การเจริญเติบโตของต้นยางดี สามารถกรีดยางได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผิวหน้ายางนิ่ม และมีปริมาณน้ำยางไหลเพิ่มขึ้น ช่วยเกษตรกรได้รับผลผลิตยางเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีเกษตรกรนำไปใช้ในสวนทุเรียน ทำให้ต้นทุเรียนที่เสียหายจากน้ำท่วมฟื้นคืนกลับมาแข็งอย่างรวดเร็ว
รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่พบการแพร่ระบาดได้ดำเนินการผ่านมาตรการต่างๆ เกิดผลเป็นรูปธรรม สามารถช่วยบรรเทาให้วิกฤตการระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยดีขึ้นและจะขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส