Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

549 views

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมดูแลชาวไร่อ้อย ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งระยะสั้น-ยาว


จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องสถานการณ์อ้อยในฤดูการผลิตปี 2561/2562 ที่มีการประกาศราคาอ้อยเบื้องต้นมาแล้วราคาตันละ 650 บาท ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยขาดทุน เนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้มีการประเมินผลการลงทุนแล้วพบว่าจะต้องใช้เงินในการลงทุนปลูกอ้อยตันละ 1,041 บาท ซึ่งเป็นผลพวงมาจากรัฐบาลผลักดันให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังหันมาปลูกอ้อย ส่งผลให้มีผลผลิตสูงขึ้น แต่รัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับนโยบายของตนเองนั้น


 นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้แจงว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/2562 เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 700 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส แต่หากคิดคำนวณที่ค่าความหวานเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่ 12.30 ซี.ซี.เอส จะอยู่ที่ 796.69 บาทต่อตัน และเมื่อรวมกับค่าส่วนเพิ่มจากคุณภาพอ้อยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย และจากโครงการเงินช่วยเหลือ 50 บาท เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยประมาณ 880 – 900 บาท/ตันอ้อย ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวไร่อ้อยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นหรือข้อคัดค้านจากผู้แทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาลไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ราคาดังกล่าวต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่คำนวณไว้ก็จริง แต่คาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปลายปีน่าจะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งคาดการณ์ว่าน้ำตาลจะเริ่มมีการปรับสมดุลมากยิ่งขึ้น


สำหรับการแก้ปัญหาหรือมาตรการในระยะสั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต หรือที่เรียกกันว่าโครงการเงินช่วยเหลือ 50 บาท ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ในวงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผ่านบัญชีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ 2562 และครั้งที่ 2 หลังปิดหีบอ้อยคาดว่าประมาณเดือนเมษายน 2562


ส่วนมาตรการในระยะยาว กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายและสั่งการให้หน่วยงานที่มีบทบาทโดยตรง คือ สำนักงานคณะกรรกมการอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เน้นหนักในเรื่องการเพิ่มผลิตภาพเปลี่ยนจากเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) โดยการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานเข้ากับงานด้านการเกษตรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร สนับสนุนให้มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาสายพันธ์อ้อยใหม่ ๆ ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ของประเทศไทย การนำเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับของสากล มาช่วยในการวิเคราะห์ค่าต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อรายได้ของเกษตรกร


 อย่างไรก็ดี ในส่วนของประสิทธิภาพในการผลิต มีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bio Economy” ในการที่จะขยายต่อห่วงโซ่มูลค่าของสินค้าเกษตร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ที่ได้เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561 – 2570 โดยมีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งหากมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจหลัก โดยนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) เคมีชีวภาพ (Biochemical) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) ก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับสินค้าเกษตรในอนาคต และเป็นการเพิ่มรายได้จากฐานเดิมและต่อยอดไปสู่การสร้างฐานรายได้ใหม่


ซึ่งหากเรามีอุตสาหกรรมอื่น ๆ มารองรับอย่างเอทานอล หรืออุตสาหกรรมชีวภาพจะสามารถดึงเอาปริมาณอ้อยและน้ำอ้อยออกไปจากระบบ จะทำให้ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตไม่มากจนเกินไป และย่อมส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกไม่ตกต่ำอย่างที่ผ่านมา

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส