43 views

เดินหน้าสอบต่อ OPPO-realme ในแง่กฎหมาย เพื่อดูแลคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค


นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 68 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้เรียก OPPO และ realme เข้ามาชี้แจงกรณีแอปพลิเคชันกู้เงินแล้ว และได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารายงานความคืบหน้าสถานการณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสรุปข้อเท็จจริงว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้างและจะมีข้อกฎหมายอะไรที่จะช่วยดูแลคุ้มครองประชาชนได้บ้าง ทั้งนี้ ได้รับรายงานใน 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือ มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่ต้องเชิญหน่วยงานมารายงานสถานการณ์ และทราบว่า กสทช. ได้เชิญตัวแทน OPPO และ realme มาชี้แจงแล้ว ในส่วนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. และถ้ามีผู้ร้องเรียนก็จะดำเนินการ หากใครที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือได้รับผลกระทบจากการใช้สินค้าและบริการดังกล่าวสามารถแจ้งมาที่ สคบ. ได้

ส่วนทั้งสองบริษัทจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ นางสาวจิราพร กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าเป็นแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการเงิน ยังไม่ได้จดทะเบียนต้องดำเนินการไปตามกระบวนการ อีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จะต้องไปดูข้อเท็จจริงว่า เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอมหรือไม่

นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการกำกับดูแลกรณีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีแอปพลิเคชันกู้เงิน พร้อมด้วยนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมประชุม เพื่อสรุปข้อเท็จจริง และมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น และมาตรการป้องกันในระยะยาว ต่อกรณีโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตั้งแอปพลิเคชั่นเงินกู้ สร้างความกังวลให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ณ ห้องประชุม 2502 ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล

มีการหารือใน 3 ประเด็นหลัก  

1. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประสานงานกับบริษัทมือถือ     ให้ถอดแอปพลิเคชันออก แต่ยังไม่มีมาตรการหรือกฎหมายบังคับใช้ จึงต้องขอความร่วมมือจากบริษัทเหล่านั้น โดยทั้ง 2 บริษัท จะแจ้งผลกลับมาภายในวันนี้ (16 ม.ค. 68) ว่าสามารถดำเนินการได้เมื่อไหร่

2. การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก สคบ. จะเชิญค่ายมือถืออื่นๆ มาชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อดูว่ามีการติดตั้ง app กู้เงินมากับมือถือในลักษณะเดียวกับ 2 ค่ายตามข่าวหรือไม่

    – การตรวจสอบเชิงรุก : พบว่ามีช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้ไม่มีเจ้าภาพในการตรวจ application ที่ติดมากับมือถือได้ เพื่อป้องกันความเสียหายในอนาคต จึงมีแผนจัดตั้งคณะกรรมการจากหลายหน่วยงานเพื่อร่างกฎหมายที่สามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันทั้งที่ติดมากับมือถือและที่ดาวน์โหลดจากแอปสโตร์/เพลย์สโตร์ พร้อมให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพหลักในการตรวจสอบเชิงรุก เพราะเป็นผู้ถือกฎหมายในการอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะไปดูว่ามีกลไกอะไร หรือตั้งคณะกรรมการที่มีตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจแอปฯ พราะหากแอปฯ ดังกล่าวปล่อยกู้เกิน 15% ก็ถือว่าผิดกฎหมาย

3. การรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และใช้กฎหมายที่มีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะประสานกับ บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการแทนประชาชนกรณีที่พบว่าถูกละเมิดสิทธิ และได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าและบริการ โดยจากการประสานของสำนักงาน กสทช. จะทราบจำนวนเครื่องที่จำหน่ายไปแล้วในวันนี้ (16 ม.ค. 68) ขณะนี้มีผู้มาร้องเรียนต่อ สคบ. ประมาณ 20 ราย และมีผู้ร้องเรียนต่อสภาผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่ง ประชาชนที่ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน สคบ. 1166

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี เชิญ 2 บริษัทโทรศัพท์มือถือที่มีการติดตั้งแอปพลิเคชันกู้ยืมเงินในเครื่องก่อนวางจำหน่ายว่า เดิมเรื่องนี้ไม่ได้มีมาตรการดูแล เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ต้องกำหนดมาตรการในเรื่องของการลงซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือรวมถึงอุปกรณ์แท็บเล็ต ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเอาผิดมือถือทั้ง 2ค่ายได้ ส่วนเรื่องของการขออนุญาตกู้ยืมเงินเกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่าไม่ได้มีการขออนุญาต รวมทั้งเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิเตอร์ฯ ซึ่งอาจจะต้องดูว่าเข้าข่ายความผิดในข้อใด และเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แอปพลิเคชันจะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จะต้องมีการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ รุ่นอื่นๆ ที่มีการวางจำหน่ายเพิ่มเติมด้วยทั้งหมด

สำหรับกรณีที่มีผู้ได้รับความเสียหายไปแล้วนั้น จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ที่มาแจ้งว่าได้รับความเสียหาย ว่าเป็นมูลค่าเท่าใด มีแต่เพียงเรื่องของการก่อให้เกิดความรำคาญ และยังไม่สามารถที่จะปิดแอปพลิเคชันได้ ซึ่งยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี อย่างไรก็ตามต้องหาวิธีป้องกันไว้

ส่วนกรณีที่ยังไม่ได้ขออนุญาตติดตั้งแอปพลิเคชันปล่อยเงินกู้นั้น จะสามารถดำเนินการเอาผิดเรื่องนี้ได้หรือไม่ จะต้องดูว่ามีการทำธุรกรรมทางการเงินแล้วหรือยัง แต่ถ้าดูตามข่าวก็พบว่ามีคนไปกู้เงินแล้ว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพราะเรื่องการกู้ยืมเงินต้องมีการขออนุญาตก่อน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส