48 views

นายกฯ มอบนโยบายแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 เน้นประสิทธิภาพ


นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบนโยบายหลักเกณฑ์และแนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อนำไปปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยมีหัวหน้าหน่วยงานราชการจากทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค รัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมด้วย โดยมีการถ่ายทอดผ่านบนระบบ Video Conference ไปยังศาลากลางทุกจังหวัด และผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) และเพจสำนักงบประมาณ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนได้ร่วมรับชมและรับฟัง

นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงจุดประสงค์สำคัญ ในการจัดทำงบประมาณปี 2569 โดยต้องทำให้ทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน ว่าจะร่วมกันเปลี่ยนแปลงความท้าทายของการพัฒนาประเทศให้เป็นความหวังและเป็นโอกาสให้ประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ตรงจุดได้ โดยวางแผนการใช้งบฯ ปี 2569 ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด ผ่านการยกระดับมาตรฐานการทำงานของภาครัฐให้ตอบสนองกับโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายด้วย “การเติบโตทางประสิทธิผล” หรือ “Efficiency GROWTH” ต้องใช้งบฯ ให้แม่นยำ ทำงานให้ตรงเป้าหมาย ดังนี้

(1) ไม่ลดสัดส่วนงบลงทุน และอุดหนุนเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

(2) ไม่เพิ่มงบดำเนินงาน เน้นเพิ่มประสิทธิผล แต่ไม่เพิ่มงบประมาณ

(3) ไม่เพิ่มอัตรากำลังเน้นพัฒนากำลังคนที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และดูแลด้านสวัสดิการให้ทั่วถึง และเท่าเทียม

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความท้าทายที่ประเทศไทยเผชิญ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น การเปลี่ยน แปลงสภาพแวดล้อม ด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงเศรษฐกิจของไทยที่เติบโตต่ำกว่าศักยภาพมานานหลายปี ส่งผลให้รายได้ของคนไทยโตไม่ทันรายจ่ายนำไปสู่ปัญหาหนี้ที่รุนแรงและเรื้อรัง เช่นเดียวกับปัญหาของคนทำมาค้าขาย  ที่ต้องรับมือกับทั้งปัญหาด้านสภาพคล่องและการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ยังรอการแก้ไขอีกหลายเรื่อง พร้อมเชื่อมั่นในประเทศไทยและคนไทยที่มีศักยภาพ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะสามารถสร้าง “การเติบโตด้านประสิทธิผล” หรือ “Efficiency GROWTH”  เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเร่งด่วนให้คนไทย ทำให้พี่น้องประชาชนกินดีอยู่ดี เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี

จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล “เศรษฐกิจ-สังคม-ความมั่นคง-การบริหารรัฐกิจ”

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณฯ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ได้แก่

การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ด้านเศรษฐกิจ

  • แก้หนี้ครัวเรือนทั้งระบบ

          แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและ SMEs ทั้งในระบบและนอกระบบ ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ลดค่างวดและพักดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี และโครงการ Soft Loan สำหรับ SMEs

  • DIGITAL WALLET

   เดินหน้าโครงการ Digital Wallet ของกลุ่มบุคคลทั่วไป เป็นการวางรากฐานให้กับประเทศในการเข้าสู่ยุคดิจิทัล

  • การท่องเที่ยว
    สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านล้านบาท กระจายรายได้สู่หมู่บ้านชุมชน
  • อุตสาหกรรม/SMEs

ส่งเสริม พัฒนาและสร้างช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมของอนาคต เช่น Data Center AI, EV, Agri-Tech, Food Tech etc., เดินหน้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต

  • การต่างประเทศ

   มีบทบาทในเวทีโลก และยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และบทบาทในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก

  • การเกษตร

   ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นจุดแข็งและ Soft Power ของประเทศไทย

  • พลังงาน

   ปรับโครงสร้างค่าพลังงานและค่าไฟฟ้าให้ถูกลง ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมและสนับสนุนให้ไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด

  • โครงสร้างพื้นฐาน

   ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub) พัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ๆ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) ให้มีโครงข่ายที่ครอบคลุม

การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต

  • สาธารณสุข

   “30 บาทรักษาทุกที่”

  • การศึกษา

   โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน (ODOS) Summer Camp โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนต้นแบบส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้จริงเพื่อสร้างรายได้ (Learn to Earn) และได้ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะต้องไม่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อเตรียมคนในประเทศให้พร้อมรองรับการพัฒนาประเทศและโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาจากบริษัทหรือผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนและประกอบกิจการในประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องเร่งสร้างโอกาสให้มากขึ้นโดยเร็ว

  • Soft Power

   พัฒนาทักษะอาชีพ Upskill และ Reskill ของคนไทย เพื่อให้คนไทยเป็นพลเมืองที่คุณภาพของโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power (OFOS)

  • ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

   สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดินเพิ่มขึ้นแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน และโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย”(Public Housing) ที่จะทำให้มีบ้านของตัวเอง   

  • ยาเสพติดและอาชญากรรม/อาชญากรรมออนไลน์

   แก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมออนไลน์ ด้วยวิธีการที่เด็ดขาด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

  • สิ่งแวดล้อม

   ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาด มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตร แก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งลดลง ซึ่งรัฐบาลได้มีการวางแผนไว้เรียบร้อยแล้วทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว แก้ไขปัญหามลพิษ พัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ด้านความมั่นคง

  • กองทัพ

   ประเทศไทยจะต้องมีความมั่นคงทางด้านทหาร  กองทัพจะต้องมีประสิทธิภาพ และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิผล โดยเน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการดูแลความมั่นคงของประเทศ ปรับขนาดองค์กรให้มีความคล่องตัวและสอดคล้องกับภารกิจ เร่งเปลี่ยนผ่านรูปแบบการเกณฑ์ทหารไปสู่แบบสมัครใจ

การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ด้านการบริหารรัฐกิจ

  • กฎระเบียบ

   แก้ปัญหาการผูกขาด ยกเลิกกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ หรือการดำเนินธุรกิจในประเทศ (Ease of Doing Business) ผลักดันกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้ประเทศไทย เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก (Financial Hub)

  • E-Government

   มุ่งสู่การเป็น Digital Government เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยนโยบาย “Go Cloud First”

  • ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ นิติธรรม

   ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตย

ย้ำจัดงบ 69 ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ-ประหยัด-คุ้มค่า

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นโยบายสำคัญของรัฐบาลทั้งนโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะกลาง และระยะยาว ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ครอบคลุมทุกประเด็น ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 3,780,600 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2568 ได้ไม่มากนัก แต่มีรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายจำนวนมาก โดยให้หน่วยรับงบประมาณ ส่งคำของบประมาณ ภายในวันที่ 31 มกราคม 2568

ในการขอรับการจัดสรรงบประมาณ ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นเท่าที่จำเป็น จะต้องไม่เป็นการเพิ่มรายจ่ายประจำ ด้วยข้อจำกัดของวงเงินงบประมาณขอให้ใช้โอกาสนี้ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงการทำงานของภาครัฐ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เกิดประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์กับประชาชนอย่างแท้จริง  รวมทั้งขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 ธันวาคม 2567 เรื่องแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 – 2572) อย่างเคร่งครัด ดังนี้

(1) ให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้เทียบเคียงการดำเนินการกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย เพื่อให้ภาครัฐมีงบประมาณที่เพียงพอ สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ต่างๆ

(2) ให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด เพื่อให้มีความคุ้มค่า ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ทั้งนี้ ในการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ ให้เสนอขอรับงบประมาณเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนของภาครัฐด้วย

(3) ให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ หรือเงินสะสม นำเงินดังกล่าวมาใช้ดำเนินโครงการภารกิจในความรับผิดชอบเป็นลำดับแรก รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินอื่นเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการตามความเหมาะสมด้วย เช่น เงินกู้ PPP (Public-Private Partnership) เพื่อลดภาระงบประมาณในภาพรวมของประเทศ    

(4) ให้กระทรวง และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนและนักลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า “สิ่งสำคัญที่พูดคุยกันในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการจัดทำงบประมาณของปี พ.ศ. 2569 แต่ยังรวมถึงเป้าหมาย และวิธีการ ที่ราชการจะช่วยกันเปลี่ยนงบประมาณของประเทศให้เป็นความหวังและโอกาสของประเทศชาติและประชาชน ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าข้าราชการเกือบ 2 ล้านคนจะดูแลคนไทยทั้ง 66 ล้านคนด้วยความใส่ใจ โดยการใช้จ่ายเงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า ซึ่งหวังว่าการจัดทำงบประมาณและบูรณาการงบประมาณในมิติพื้นที่จะทำให้แผนงานโครงการของงบประมาณปี 2569 เป็นงบประมาณที่ช่วยเติมความหวัง สร้างโอกาส และวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส