สภาพัฒน์ แจงหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นมากกว่า50%กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ชี้เนื่องจากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ส่วนการชำระหนี้ไม่น่ากังวล แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ชี้ทางออกยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ครอบครัวต้องตระหนักและมีวินัยการใช้จ่ายเงิน
ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาระหนี้ครัวเรือนออกมาจากหลายสำนัก จนอาจสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย ด้วยเกรงว่าหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคของครัวเรือน ครัวเรือนไม่มีกำลังจ่ายหนี้ได้ กระทบต่อสถาบันการเงิน และอาจจะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศได้
มาทำความเข้าใจเข้าใจกับคำว่า “หนี้ครัวเรือน” ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท) อธิบายว่า หมายถึง เงินให้กู้ยืมที่สถาบันการเงินให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ แต่หากจะเข้าใจง่ายๆ “หนี้” คือการ “ยืม” หนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ของบุคคลที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากการใช้จ่ายไม่ว่า ซื้อรถ ซื้อบ้าน โทรศัพท์ หรือการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค ฯลฯ
และประเด็นเรื่อง “หนี้ครัวเรือน”ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือน แต่ ปรากฏการณ์นี้ ยังเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในกลุ่มประเทศ พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ โดยเฉพาะมาเลเซียซึ่งมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึงร้อยละ 87 เมื่อปี 2013 นับว่าสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน
นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2561 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดระบุว่าภาพรวมหนี้ครัวเรือนมีมูลค่ารวม 12.34 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 57% เทียบกับ3.8 %และ4.6%ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งภาระหนี้ครัวเรือนมากขึ้นมาจากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ รวมทั้งขณะนี้ความต้องการซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เร่งตัวขึ้น ตั้งแต่กลางปี 2560 ภายหลังสิ้นสุดเงื่อนไขการถือครองรถยนต์ครบ 5 ปี ตามโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างช้า ๆ จากสูงสุด 80.8% ปี 2558 มาอยู่ที่ 77.5% ในไตรมาส 2/2561 และยังพบว่าวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ครัวเรือนมากกว่า50% กู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรหรือที่อยู่อาศัย โดยข้อมูลของธนาคารพาณิชย์พบว่าไตรมาส 3/2561 สัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 73 %ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ให้ครัวเรือน เพื่อกู้ยืมซื้อที่ดินอยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม แม้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่ความสามารถชำระหนี้ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากไตรมาส 3 /2561 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)เพิ่มขึ้น 7.8% แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงจาก 10.3% จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม สศช.พบว่าหนี้ครัวเรือนยังมีประเด็นต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากตัวเลขภาระหนี้ขณะนี้หากมีปัจจัยภายนอกมากระทบอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถชำระหนี้ได้
นางชุติมา กล่าวว่า ส่วนปัจจัยอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลกระทบการชำระหนี้ของลูกหนี้หรือไม่นั้น ต้องติดตามภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายปี 2561 ซึ่งจะสามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อการชำระหนี้หรือไม่
และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย ในสังคมต้องตระหนักและสร้างวินัยการใช้จ่าย ซึ่งต้องปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่เยาวชนไม่ให้มีค่านิยมใช้จ่ายเกินรายได้ หรือนำเงินอนาคตมาใช้โดยไม่จำเป็น โดยขอให้ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการดำเนินชีวิต
ที่มา : สภาพัฒน์