12 views

รัฐบาลจัดพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายเป็นพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคล


นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารแต่ละหน่วยงาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

ภายในงานได้มีการประกอบพิธีทางศาสนา โดยผู้นำองค์การศาสนา 5 ศาสนา ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ โดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือการสวดมนต์ อันเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพื่อจำหลักคำสอนที่เป็นพระพุทธวจนะเท่านั้น การได้ยินได้ฟังพระสงฆ์สวดสาธยาย ถือว่าเป็นสิริมงคล ประสิทธิ์ประสาทความเจริญและสามารถที่จะป้องกันภัยอันตรายได้

ศาสนาอิสลาม โดยนายประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประกอบพิธีดุอาอ์ขอพร เพื่อแสดงออกถึงการรำลึกถึงอัลลอฮ์ ซึ่งอิสลามสอนให้อ่านดุอาอ์ในเวลาและโอกาสต่างๆ

ศาสนาคริสต์ โดยบาทหลวงสมเกียรติ บุญอนันตบุตร เลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์และคริสตศาสนจักรสัมพันธ์ ผู้แทนสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ประกอบพิธีอธิษฐานภาวนาขอพร เป็นรูปแบบความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า การภาวนาสำหรับชาวคริสต์ศาสนิกชน จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์แสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยมีบทภาวนาที่คริสต์ศาสนิกชนทุกคนสามารถอธิษฐานภาวนาร่วมกันได้ เพื่อแสดงความเป็นน้ำใจเดียวกัน

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ วิบูลย์เวทย์บรมหงส์ พรหมพงศ์ พฤฒาจาริย์ สำนักพราหมณ์พระราชครู ประกอบพิธีสวดถวายพระพร เรียกว่า พรหมยัชญะและเทวยัชญะ เป็นหลักสำคัญ 2 ประการ ที่ผู้นับถือศาสนาฮินดู ที่เคร่งจะต้องทำประจำวัน ที่เรียกว่า ปัญจมหายัชญะคือ การบูชาที่ยิ่งใหญ่ 5 ประการ 

ศาสนาซิกส์ โดย Mr.Rajdeep Singh (นาย ราจดีฟ ซิงห์) ประกอบพิธีสวดอัรดาสและกีรตันขอพรจากพระศาสดา เป็นบทสวดเพื่อรำลึกถึงพระคุณของศาสดาขอให้พระองค์ประทานพร ปกป้องคุ้มครองศาสนิกชนทุกเชื้อชาติศาสนา

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อให้ศาสนิกชนได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อีกทั้งส่งเสริมให้ศาสนิกชนทุกศาสนาด้วยการนำหลักธรรมทางศาสนาและน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และศาสนสถาน เป็นพลังในการขับเคลื่อน อันจะก่อให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนในสังคมอย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศชาติเกิดความสันติสุขสืบไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส