กรมสรรพากรเดินหน้าต่อมาตรการภาษี “Easy E-Receipt 2.0” เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2568 โดยผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล) สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 ตามจำนวนที่จ่ายจริง มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับเอกสารยืนยันการใช้จ่ายในรูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “มาตรการภาษี “Easy E-Receipt 2.0” เป็นการต่อยอดจากมาตรการเดิมที่ประสบความสำเร็จในปี 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงส่งเสริมการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้มาตรการนี้ ผู้เสียภาษีสามารถลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท โดยแบ่งออกเป็น
1) ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ (สินค้าและบริการทั่วไป) สำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบรับในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) (รวมค่าซื้อสินค้า OTOP ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม) ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
2) ในกรณีที่ผู้มีเงินได้จ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 1) เกิน 30,000 บาท ให้หักลดหย่อนสำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ได้อีกตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
(1) ค่าซื้อสินค้า OTOP ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
(2) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต่อกรมส่งเสริมการเกษตรไม่ว่าวิสาหกิจชุมชนนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(3) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)
ทั้งนี้ การซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 2) สามารถใช้สิทธิลดหย่อน 30,000 บาท ตามข้อ 1. ได้เช่นกัน โดย e-Tax Invoice และ e-Receipt ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
เงื่อนไขในการใช้มาตรการฯ
- ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- กรณีไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ดังต่อไปนี้
1) ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (E- book)
3) ค่าซื้อสินค้า OTOP ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
4) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ว่าวิสาหกิจชุมชนนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
5) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อ สวส.
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการนี้ไม่รวมถึง
1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
2) ค่าซื้อยาสูบ
3) ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
4) ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และค่าซื้อเรือ
5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
6) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด
7) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
8) ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
9) ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
10) ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยให้แก่ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.)
11) ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบการสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
- ผู้มีเงินได้ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการนี้ต้องไม่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
กรมสรรพากร ระบุรายละเอียดเพิ่มเติม หาก e-Tax Invoice มีรายการครบถ้วน แม้จะมีการระบุชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด ก็สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนได้ ทั้งนี้ควรตรวจสอบว่าเลขประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการถูกต้องหรือไม่เพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อมูลยื่นแบบแสดงรายการภาษี
กรณีมีสัญญาใช้บริการระยะยาวที่มีระยะเวลาสัญญาเริ่มต้นก่อนวันที่ 16 มกราคม 2568 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์2568 โดยมีส่วนที่ชำระและใช้บริการระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์2568 ไม่สามารถหักลดหย่อนค่าบริการเฉพาะส่วนที่ใช้บริการในช่วงเวลาดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 16 มกราคม 2568 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
กรณีชำระค่าบริการระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 แต่ใช้บริการหลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ไม่สามารถหักลดหย่อนได้ เนื่องจากต้องชำระค่าบริการและใช้บริการระหว่างวันที่
16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 256 เท่านั้น
สามารถตรวจสอบรายชื่อร้านค้า ที่ได้รับอนุมัติให้ออก e-Tax Invoice หรือe-Receipt ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://etax.rd.go.th/ETAXSEARCH/normal_person.html ได้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า “มาตรการนี้นอกจากจะช่วยลดภาระภาษีให้กับประชาชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยคาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ เข้าร่วมระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt จำนวน 12,395 ราย โดยมีร้านค้ารวมทั้งสิ้น 108,873 ร้านค้า แบ่งเป็น 1. e-Tax Invoice & e-Receipt จำนวน 101,297 ร้านค้า
2. e-Tax Invoice by Time Stamp จำนวน 7,576 ร้านค้า สำหรับร้านค้า ที่ต้องการใช้ระบบ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt สามารถติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ร้านค้าตั้งอยู่”
ส่วนผู้เสียภาษีและร้านค้าสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่ www.rd.go.th หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161