กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบการส่งต่อรักษาออนไลน์ MOPH Refer และ Imaging Hub ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดิจิทัลปี 2568 เพื่อสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงข้อมูลการบริการรักษาด้วยระบบดิจิทัล มีเป้าหมายสำคัญ คือ การลดภาระให้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ลดปัญหาเอกสารด้วยการใช้ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารกระดาษ ลดปัญหาความแออัดและการรอคอยที่โรงพยาบาลโดยผู้ป่วยสามารถขออนุมัติต่ออายุใบส่งตัวได้ด้วยตนเองทาง “หมอพร้อม” บนมือถือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการเอ็กซเรย์ซ้ำ โดยมีระบบส่งต่อภาพถ่ายทางรังสี (Imaging Hub) ช่วยให้แพทย์ทราบข้อมูลและเตรียมการล่วงหน้าได้ ซึ่งได้เปิดตัวระบบที่เขตสุขภาพที่ 8 จังหวัดหนองคาย และเตรียมพร้อมขยายไปทั่วประเทศ อีกทั้ง ได้พัฒนาการดูแลรักษาสุขภาพเด็กโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคยุ่งยากซับซ้อนได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และลดภาวะแทรกซ้อน
(11 ม.ค. 68) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบการส่งต่อรักษาออนไลน์ *MOPH Refer และ Imaging Hub ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดิจิทัลปี 2568 เพื่อสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงข้อมูลการบริการรักษาด้วยระบบดิจิทัล
มีเป้าหมายสำคัญ คือ
- การลดภาระให้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งลดปัญหาเอกสารด้วยการใช้ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารกระดาษ
- ลดปัญหาความแออัดและการรอคอยที่โรงพยาบาลโดยผู้ป่วยสามารถขออนุมัติต่ออายุใบส่งตัวได้ด้วยตนเองทาง “หมอพร้อม” บนโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องเดินทางมารอพบแพทย์เหมือนในอดีต
- ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการเอ็กซเรย์ โดยมีระบบส่งต่อภาพถ่ายทางรังสี (Imaging Hub) ช่วยให้แพทย์ทราบข้อมูลและเตรียมการล่วงหน้าได้ ไม่ต้องเสียเวลาถ่ายภาพเอ็กซเรย์ซ้ำ
ล่าสุด ได้เปิดตัวระบบดังกล่าวที่เขตสุขภาพที่ 8 จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา โดยทีมแพทย์โรงพยาบาลหนองคายได้สาธิตการใช้ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอุดรธานี การทำ Telemedicine การต่ออายุใบส่งตัวออนไลน์ผ่านระบบหมอพร้อม และแสดงการเชื่อมโยงข้อมูลภาพถ่ายเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ผ่านระบบ Imaging Hub ซึ่งเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมาก
โครงการนี้เป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน ซึ่งได้เตรียมพร้อมขยายไปทั่วประเทศ ปัจจุบันมีหน่วยบริการเชื่อมต่อระบบ MOPH Refer แล้วกว่า 500 แห่ง มีการออกใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 35,000 ใบ นับเป็นอีกหนึ่งบริการของกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้สนับสนุนบริการทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงและดูแลประชาชนอย่างไร้รอยต่อ ลดปัญหาความยุ่งยาก ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดความแออัดที่หน่วยบริการ ส่วนในระยะต่อไปจะมีการวางแผนนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้กับระบบ ซึ่งจะช่วยลดภาระแก่บุคลากรการแพทย์และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งต่อข้อมูลการรักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ จะยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล และ MOPH Digital Health Platform ภายใต้มาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และธรรมาภิบาลข้อมูล เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพให้ทั่วถึงทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
*หมายเหตุ* ค่านิยมองค์กร กระทรวงสาธารณสุข “MOPH” M : Mastery เป็นนายตนเอง O : Originality เร่งสร้างสิ่งใหม่ P : People center ใส่ใจ ประชาชน H : Humility ถ่อมตนอ่อนน้อม
สธ. มอบของขวัญเพื่อผู้ป่วยเด็กด้วยการรักษาจากเทคโนโลยีขั้นสูง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งมอบของขวัญเพื่อผู้ป่วยเด็กด้วยการรักษาจากเทคโนโลยีขั้นสูง เด็กและเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญของชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคที่ “เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย” จึงได้ส่งเสริมให้เด็กไทยได้เติบโตอย่างมีคุณภาพในทุกด้าน
โดยในปี 2568 นี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้คำขวัญวันเด็กว่า “ทุกโอกาสคือการเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง” กระทรวงสาธารณสุขจึงขอส่งมอบของขวัญวันเด็ก ด้วยการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเด็กโรคยุ่งยากซับซ้อนได้เข้าถึงบริการดูแลรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้กลับมามีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น
- ศูนย์โรคหัวใจในเด็ก ให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจรั่วทางสายสวน และผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจสลับขั้วแต่กำเนิดซับซ้อน
- ศูนย์ศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง ให้บริการผ่าตัดผ่านกล้องช่องอกในทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นแห่งเดียวในประเทศ
- ศูนย์การดูแลภาวะโภชนาการในเด็กอ้วนและเบาหวาน บูรณาการการรักษาแบบองค์รวมโดยเครื่องมือพิเศษ เช่น เครื่องวัดองค์ประกอบร่างกาย เครื่องตรวจพังผืดและไขมันในตับ เครื่องตรวจการนอนหลับ ช่วยประเมินภาวะแทรกซ้อนและวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำ
- ศูนย์ให้คำปรึกษา Tele consult พัฒนาการเด็กแห่งชาติ สำหรับเด็กที่พัฒนาการล่าช้าที่อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เช่น ศูนย์ปากแหว่งเพดานโหว่ ศูนย์ผ่าตัดโรคลมชัก ศูนย์ส่องกล้องทางเดินหายใจ และผ่าตัดแผลเล็กโรคทรวงอก ศูนย์ทารกแรกเกิด เป็นต้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเพิ่มการเข้าถึงการรักษาจากเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นการขับเคลื่อนแผนการดูแลรักษาโรคเด็กระดับชาติ (Service Plan) ซึ่งได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ การประเมินความคุ้มค่าและการตรวจรักษาแบบใหม่ (Precision Child Health) เพื่อนำผลการศึกษาวิจัยมากำหนดเป็นนโยบายและผลักดันให้บริการทางการแพทย์บรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อให้คนไทยได้รับบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม รวมถึงมุ่งเน้นความร่วมมือทางวิชาการและพัฒนาการดูแลรักษาสุขภาพเด็กกับเครือข่ายสุขภาพระดับชาติและนานาชาติ ต่อยอดให้เกิดการขยายผลและความร่วมมือทางวิชาการด้านโรคเด็กระดับชาติต่อไป
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาเด็ก โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคยุ่งยากซับซ้อนได้พัฒนาและนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ลดภาวะแทรกซ้อน และส่งเสริมให้ผู้ป่วยเด็กมีพัฒนาการที่ดีสมวัย โดยโรคที่ผู้ป่วยเด็กเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในที่พบบ่อย ได้แก่
1. โรคปอดบวม
2. โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
3. โรคติดเชื้อไวรัส RSV
4. โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
5. ภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด