Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

405 views

กยท. แจง ไม่มีการ ล็อกสเปค “โครงการช้อปยางช่วยชาติ ยืนยันเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราโดยตรงในการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ


นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิต เปิดเผยถึงกรณีโครงการช้อปยางล้อช่วยชาติ ว่า กยท.ได้เชิญชวนให้ผู้ผลิตล้อยางที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยทุกรายเข้าร่วมโครงการช้อปยางล้อช่วยชาติในระหว่างวันที่ 16 ธ.ค. 2561 – 15 ม.ค. 2562 และเพื่อเป็นการสนองนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศของรัฐบาล โดย กยท. กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผู้ผลิตยางล้อทุกรายที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการช้อปยางช่วยชาติต้องแสดงหลักการซื้อยางพาราวัตถุดิบในการผลิตยางล้อจากสถาบันเกษตรกรหรือ กยท.โดยตรง จากนั้น กยท.จะออกหลักฐานเป็นคูปองให้บริษัทนั้นๆใช้ในการร่วมโครงการช้อปปิ้งช่วยชาติ

 ทั้งนี้ มีบริษัทยางล้อบางบริษัทอ้างว่าไม่สามารถจะทำตามเงื่อนไขของ กยท.ได้ เพราะเมื่อซื้อวัตถุดิบ คือ ยางพาราแล้วต้องส่งตัวอย่างยางพาราดังกล่าวไปให้บริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศตรวจสอบคุณภาพและรับรองก่อนซึ่งจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนซึ่งเลยช่วงเวลาของโครงการช้อปช่วยชาติ ซึ่งสถาบันเกษตรกรหรือ กยท.อาจจะส่งมอบวัตถุดิบไม่ตรงตามกำหนดเวลา

บริษัทเหล่านั้นจึงยื่นเงื่อนไขใหม่ขอซื้อยางพาราจากบริษัทเอกชนคู่ค้าประจำซึ่งตนเองมีสัญญาซื้อขายกันอยู่แล้วและบริษัทคู่ค้าดังกล่าวได้รับการรับรองคุณภาพจากบริษัทแม่ในต่างประเทศแล้วด้วย

นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า กยท.จึงได้เสนอเงื่อนไขดังกล่าวของบริษัทเหล่านั้น ให้นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า หากอนุมัติให้บริษัทที่ไม่ได้ซื้อยางพาราโดยตรงจากสถาบันเกษตรกรหรือ กยท. อาจขัดกับมติ ครม. หรือนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการซื้อยางพาราโดยตรงจากเกษตรกรประกอบกับหากบริษัทที่ขายยางพาราให้กับบริษัทผลิตยางล้อนั้น ไปเอายางพาราในโกดังของบริษัทที่ซื้อตุนเก็บไว้ก็จะไม่เป็นการดูดซับยางออกจากตลาดซึ่งจะทำให้ไม่มีผลต่อการรักษาเสถียรภาพราคายางตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

ทั้งนี้  กยท.  ยืนยันว่า เงื่อนไขการกำหนดให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการช้อปยางช่วยชาติดังกล่างข้างต้นไม่ใช่ข้อจำกัดในการล็อกสเปคหรือกีดกันบริษัทใดบริษัทหนึ่งในการเข้าร่วมโครงการช้อปช่วยชาติแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นมาตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราโดยตรงในการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปซื้อยางพาราในราคานำตลาดมาเก็บรักษาไว้ให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการเก็บรักษาด้วย

ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส