นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่มีความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 โดยได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ซึ่งจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดและเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลหรือโรงงานที่ใช้พลังงานชีวมวล ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เนื่องจากจะทำให้ชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของใบและยอดอ้อย ทำให้ลดการเผาใบและยอดอ้อยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ด้านนายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ สอน. ได้ทำจดหมายขอความร่วมมือไปยังโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 แห่ง ให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้งและยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาไฟเข้าหีบ ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2568 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 23.59 น. เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กสำหรับเยาวชนไทยทั้งประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล สะท้อนได้จากสถานการณ์อ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ที่มีตัวเลขอ้อยถูกเผาอยู่ในระดับคงที่กว่า 4 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 20.18 ของปริมาณอ้อยที่รับเข้าหีบทั้งหมดกว่า 19 ล้านตัน
สอน.ขอความร่วมมือมายังเกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้ช่วยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีผลิตส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาล รวมทั้งไม่เผาใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยว ขณะเดียวกันขอความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลให้งดรับซื้ออ้อยเผา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดการเกิดฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนใกล้เคียง พร้อมผลักดันมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและสร้างอากาศสะอาดและบริสุทธิ์ ไร้มลภาวะฝุ่น PM2.5