นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยและปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 – ปัจจุบัน กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงานพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และจังหวัดระนอง เกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวน 94,206 ราย เป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะเสียหาย จำนวน 203,086 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว จำนวน 56,513 ไร่ พืชไร่และพืชผัก จำนวน 14,406 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ จำนวน 132,167 ไร่ โดยกำชับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่สำรวจให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน
โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือให้สามารถใช้เงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด หรือในอำนาจปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ ด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ส่วนราชการมีวงเงินทดรองราชการในการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือโดยมุ่งหมายที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของผู้ประสบภัยพิบัติแต่มิได้มุ่งหมายที่จะชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ใด ซึ่งต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือเป็นการซ่อมแซมให้คืนสู่สภาพเดิมโดยการเบิกจ่ายเงินทดรองราชการให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราช่วยเหลือที่กระทรวงการคลังกำหนด
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านพืช เกษตรกรจะยื่นเอกสารเพียงครั้งเดียว และภายใน 10 วันทำการ หลังจากได้รับการอนุมัติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรโดยตรง
ขอให้เกษตรกรระวังการแอบอ้างจากมิจฉาชีพหรือผู้ไม่หวังดีในการรับเงินด้วย
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้เตรียมการสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืช (ศขพ.) จำนวน 10 แห่ง ได้จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืชไว้พร้อมแล้ว ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นที่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกเพื่อเป็นอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวและเพิ่มรายได้ เช่น เมล็ดพันธุ์พืชผัก จำนวน 70,000 ซอง ประกอบด้วย พริก มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกระเจี๊ยบเขียว และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น รวมทั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช (ศทอ.) จำนวน 9 แห่ง ได้ดำเนินการจัดเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มา ทั้งแบบพร้อมใช้และหัวเชื้อขยาย จำนวน 7,000 ขวด พร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ในการฟื้นฟูป้องกันเชื้อสาเหตุโรคพืชสำหรับพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลหลังน้ำลด ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่