ตามที่ปรากฏข่าวสารทางสื่อออนไลน์ ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ศาสนาอิสลามกำลังยึดครองประเทศไทย โดยกล่าวอ้างว่า รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองศาสนาอิสลาม ซึ่งเมื่อรวมกับกฎหมายอิสลามที่มีอยู่เดิม จึงมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามถึง 10 ฉบับ มีมัสยิดเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก มีการก่อสร้างมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีการสร้างห้องละหมาดไว้ตามที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้งมีการรื้อทำลายวัดในศาสนาพุทธไปหลายแห่ง เป็นต้น
กรมการปกครอง ชี้แจงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย ดังนี้
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องศาสนาอิสลาม จำนวน 4 ฉบับเท่านั้น ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545
โดยไม่ปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติคุ้มครองศาสนาอิสลามแต่อย่างใด และรัฐบาลชุดปัจจุบันมิได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม จะมีก็แต่เพียงการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 เพื่อโอนภารกิจการส่งเสริมกิจการฮัจย์ให้กรมการปกครองดูแลเท่านั้น ดังนั้น ประเด็นว่า มีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองศาสนาอิสลาม และมีกฎหมายอิสลาม จำนวน 10 ฉบับ จึงเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ
มัสยิดเป็นศาสนสถานในศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับวัดในพระพุทธศาสนา หรือโบสถ์ในศาสนาคริสต์ ซึ่งสร้างขึ้นตามศรัทธาของศาสนิกชนที่นับถือศาสนานั้นๆ โดยกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องจดทะเบียนกับทางราชการทุกแห่ง แต่หากประสงค์จะจดทะเบียนให้เป็นนิติบุคคลเพื่อจะถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น วัด ก็ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. 2505 หรือการสร้างโบสถ์ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก ก็ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. 128 หรือมัสยิด ก็ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีมัสยิดที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 จำนวน 3,965 แห่ง ซึ่งจากการจัดเก็บสถิติย้อนหลัง 6 ปี (พ.ศ.2555-2560) พบว่า มีมัสยิดขอจดทะเบียนเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 32 แห่ง ซึ่งสร้างขึ้นตามศรัทธาของชาวไทยมุสลิม มิใช่การสนับสนุนของรัฐบาลชุดปัจจุบันแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นที่กล่าวอ้างว่า การสร้างวัดต้องทำประชาพิจารณ์ ส่วนการสร้างมัสยิดไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ ก็ต้องพิจารณาว่า กฎหมายกำหนดให้ต้องมีขั้นตอนดังกล่าวหรือไม่
ประเด็นที่กล่าวอ้างถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม และการสร้างมัสยิด จึงเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ และบิดเบือน เพื่อสร้างกระแสให้เกิดความเข้าใจผิดต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งผู้นำเข้า หรือเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ที่มา : กระทรวงมหาดไทย