นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงกระแสข่าวสื่อออนไลน์ประเด็นว่า รัฐบาลมีการบริหารงานแบบเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน และการบริหารงานที่ผิดพลาด ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย 2 ประเด็น คือ 1. กรณีที่กล่าวหาว่ามีการยึดพื้นที่ทำกินของประชาชน พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ป่าไม้ ให้แก่กลุ่มนายทุนเพื่อไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีการให้กลุ่มธุรกิจต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดิน ใน 13 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ไม่จำกัด
ขอชี้แจงว่า นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การเข้าถึงสาธารณูปโภค การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่บริเวณชายแดน โดยใช้โอกาสจากการดำเนินการทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ 10 จังหวัด ซึ่งการจัดหาที่ดินของรัฐเป็นการจัดหาที่ดินที่มีอยู่แล้ว จำนวนประมาณ 600 – 2,000 กว่าไร่ แล้วแต่พื้นที่ของแต่ละจังหวัด นำมาให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) หรือเอกชน เช่า เพื่อนำไปพัฒนา โดยไม่ได้มีการซื้อขายแต่อย่างใด ส่วนการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ด้านการเช่าที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จึงไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
2. กรณีที่กล่าวหาว่า มีการปล่อยให้ชาวกัมพูชาเข้ามายึดที่นาคนไทยที่บ้านหนองจาน จ.สระแก้ว และให้คนของรัฐไปเจรจากับชาวบ้านเพื่อแบ่งที่ให้แก่ชาวกัมพูชาเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และปล่อยให้กัมพูชาสร้างอนุสาวรีย์บนพื้นที่ทับซ้อนที่ช่องอานม้า จ.อุบลราชธานี ละเมิดข้อตกลงไทย-กัมพูชา ที่ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่ทับซ้อน
ขอชี้แจงว่า กรณีบ้านหนองจาน ตำบลโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ราษฎรกัมพูชาได้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาพักอาศัยบริเวณชายแดนไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้จัดตั้งศูนย์รับผู้อพยพชั่วคราวในบริเวณชายแดนไทยบริเวณหลักเขตแดนที่ ๔๖ ทำให้ราษฎรไทยที่อาศัยบริเวณบ้านหนองจานไม่ปลอดภัย และได้อพยพมาในพื้นที่ปลอดภัย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2545 สงครามได้สงบลง ราษฎรไทยที่เคยอยู่อาศัยและมีที่ดินทำกินไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ได้ เนื่องจากมีราษฎรกัมพูชาเข้ามาตั้งชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น และพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกัมพูชาได้ร้องขอต่อฝ่ายไทยให้ชาวกัมพูชาอาศัยอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกแล้วเสร็จ ซึ่งผลการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรให้ราษฎรที่ทำกินและอาศัยอยู่ในพื้นที่หลักเขตแดน ระหว่างหลักเขตแดนที่ ๔๖ และ ๔๗ (บริเวณบ้านหนองจาน อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว) ดำเนินกิจกรรมตามที่เคยเป็นมาก่อน พร้อมทั้งได้มีการเร่งรัดการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนภายใต้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย-กัมพูชา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องเขตแดน ซึ่งมิได้เป็นการยินยอมให้ราษฎรกัมพูชายึดที่ดินทำกินของคนไทยตามที่เป็นการอ้างถึงแต่อย่างใด
สำหรับกรณีการสร้างอนุสาวรีย์ตาโอมบนพื้นที่ห้ามใช้ประโยชน์ (Buffer Zone) บริเวณช่องอานม้า จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่จุดผ่านแดนที่รัฐบาลทั้งสองประเทศสนับสนุนให้เปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรตามผลการเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีและการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) และได้มีการสำรวจเก็บรายละเอียดภูมิประเทศ (Joint Detail Survey) เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการยกระดับได้เนื่องจากฝ่ายกัมพูชายังไม่เคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้าง ชุมชน และตลาดออกจากพื้นที่ห้ามใช้ประโยชน์ และยังไม่ได้จัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันสำหรับประเด็นการสร้างอนุสาวรีย์ตาโอมในบริเวณพื้นที่ห้ามใช้ประโยชน์ ได้มีการประท้วงทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศแล้วโดยกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ยับยั้งไม่ให้เกิดการกระทำดังกล่าวขึ้น แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายกัมพูชาแต่อย่างใด
ที่มา : กระทรวงมหาดไทย