พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก/โฆษก คสช. ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวสื่อออนไลน์ ว่า รัฐบาลปล่อยให้ชาวกัมพูชาเข้ามายึดที่นาคนไทยที่บ้านหนองจาน จ.สระแก้ว และให้คนของรัฐไปเจรจากับชาวบ้านเพื่อแบ่งที่ให้แก่ชาวกัมพูชา เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประเด็น ปล่อยให้กัมพูชาสร้างอนุสาวรีย์บนพื้นที่ทับซ้อนที่ช่องอานม้า จ.อุบลราชธานี ละเมิดข้อตกลงไทย-กัมพูชา ที่ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่ทับซ้อนนั้น ขอชี้แจงว่า ในประเด็น พื้นที่บริเวณ บ.หนองจาน อ.โคกสูง จ.สระแก้ว นั้นปัจจุบันมีหลักเขตแดนที่ 43 ซึ่งเป็นหลักเขตที่สามารถตกลงกันได้ทั้งสองฝ่ายแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2550 แต่ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของราษฎรไทยบางส่วน ไปอยู่ทางฝั่งประเทศกัมพูชา ซึ่งตาม MOU ปี 43 ข้อ 5 กำหนดว่าจะต้องไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน จนกว่าจะมีการปักปันเขตแดนตลอดระยะจะแล้วเสร็จ
ที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะผลักดันพื้นที่บริเวณหลักเขตแดนที่ 43 เป็นจุดผ่อนปรนทางการค้า ทางฝั่งกัมพูชาจึงมี บริษัทสัมพันธ์ฤทธิ์ ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาในการที่จะเข้ามาบริหารปรับสภาพพื้นที่ บริเวณหลักเขตแดนที่ 43 ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ รองรับการเปิดเป็นจุดผ่อนปรนทางการค้า จึงมีการระงับไม่ให้ราษฎรไทยเข้าไปทำนาในบริเวณ ทางฝ่ายไทยโดย กองกำลังบูรพา จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ด้วยการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา เพื่อขอให้ราษฎรไทยสามารถเข้าทำกินในพื้นที่ดังกล่าวได้. ตามบันทึกข้อตกลง MOU ปี 43 โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศมาประชุมร่วมกันเมื่อ ก.พ.2561 ทางฝ่ายกัมพูชาจึงยินยอมให้ราษฎรไทยที่มีที่ดินตามแนวชายแดนที่เคยทำกิน สามารถเข้าไปทำนาในที่ดินที่อ้างสิทธิ์ได้ตามเดิม โดยราษฎรที่มีความประสงค์จะต้องมาแจ้งฝ่ายปกครองทราบก่อน เพื่อจะได้ทำการอำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัยให้
สำหรับเรื่องการจะเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้าบ้านโนนหมากมุ่น – บึงสะนอร์ นั้น ได้มีการประชุมกันของคณะกรรมการชายแดนไทย – กัมพูชา ระดับท้องถิ่น ไปเมื่อ มี.ค. 61. ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะสานต่อการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเปิดเป็นจุดผ่อนปรนทางการค้า โดยได้กำหนดแนวทางด้านความมั่นคงไว้ด้วยคือให้ดำเนินการให้อยู่ในกรอบตามบันทึกข้อตกลงฯ และกฎหมายของทั้งสองประเทศ ซึ่งมิใช่การยอมรับเขตแดนเป็นทางการระหว่างประเทศทั้งสองในพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด และหากมีข้อร้องเรียนจากราษฎรไทยว่าไม่สามารถเข้าไปทำนาบริเวณพื้นที่ถือครองสิทธิ์บริเวณหลักเขตแดนที่ 43 ได้ ก็ให้ระงับการดำเนินการเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้าไว้ก่อนจนกว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาของราษฎรได้
สำหรับประเด็นเรื่องพื้นที่ช่องอานม้า อ.น้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี นั้นแต่เดิมในสมัยห้วงเกิดการสู้รบภายในประเทศกัมพูชาเมื่อปี 2535 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการสู้รบชาวกัมพูชาโดยหลังเสร็จสิ้นการสู้รบ UN ได้ถอนกำลังออก แต่ชุมชนชาวกัมพูชายังคงอยู่ สมัยนั้นฝ่ายไทยได้หารือกับฝ่ายกัมพูชาไม่ให้มีการขยายตัวของชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องเส้นเขตแดน
ต่อมาในปี 2542 จังหวัดอุบลราชธานี ได้ประกาศเปิดเป็นจุดผ่อนปรนเพื่อการค้า ทำให้มีชาวกัมพูชาเข้ามาจับจองพื้นที่ก่อสร้างร้านค้าละเมิดข้อตกลง MOU43 มากขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยได้ประท้วง และควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในปี 2553 พบในชุมชนเริ่มก่อสร้างอนุสาวรีย์คนขี่ม้าในพื้นที่ช่องอานม้า ฝ่ายไทยก็ได้มีการประท้วงผ่านช่องทางตามกลไกที่มีจำนวนหลายครั้ง
จนในปี 2555 รัฐบาลทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ยกระดับช่องอานม้าเป็นจุดผ่านแดนถาวร โดยให้ดำเนินการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเส้นเขตแดน และเป็นไปตามระเบียบกฏหมายของทั้งสองประเทศ
การดำเนินการในปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังหารือกับฝ่ายกัมพูชาที่จะกำหนดให้มีพื้นที่ห้ามใช้ประโยชน์ ( buffer zone) สำหรับในพื้นที่ที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องเส้นเขตแดน และเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ออกจากพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
ที่มา : กองทัพบก