34 views

นายกฯ แถลงผลงาน 90 วัน “โอกาสไทย ทำได้จริง” ปี 68 เดินหน้า 5 นโยบายหลัก


นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลรอบ 3 เดือน (90 วัน) และมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีให้แก่ข้าราชการระดับสูง ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ภายใต้แคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง 2025 Empowering Thais: A Real Possibility จากผลงานที่เป็นรูปธรรม สู่อนาคตที่ทำได้จริง” พร้อมมอบนโยบายให้แก่รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบในแต่ละนโยบายด้วย โดยมีคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ข้าราชการฝ่ายการเมืองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หรือเทียบเท่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โฆษกกระทรวง หัวหน้ารัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์การมหาชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่
ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

แถลง 11 นโยบาย เพื่อ “โอกาส” ของคนไทย 

นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายทั้งหมด 11 นโยบาย แบ่งเป็นนโยบายระยะยาวที่ต้องทำในเชิงโครงสร้าง 6 นโยบาย ประกอบด้วย 1) การจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง 2) การแก้ปัญหาหมอกควัน PM 2.5
3) ปัญหายาเสพติด 4) การทลายการผูกขาด 5) การแก้ปัญหาธุรกิจนอกระบบ และ 6) นโยบายการลงทุนครั้งใหญ่ในอนาคต สำหรับนโยบายที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า 5 นโยบาย ประกอบด้วย 1) โครงการ SML
2) หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน 3) ดิจิทัลวอลเล็ต 4) การแก้หนี้ครัวเรือน และ 5) บ้านเพื่อคนไทย

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเริ่มต้นงานว่า ผลงานของรัฐบาลแพทองธาร เป็นผลงานที่ต่อเนื่องมาจากการบริหารงานของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี วันนี้รัฐบาลได้ทำงานผ่านความร่วมมือของคณะรัฐมนตรี และพี่น้องข้าราชการ เพื่อพี่น้องประชาชนมาแล้ว 90 วันเต็ม ทำให้วันนี้ “ทุกคนคือทีมเดียวกัน” และจะร่วมกันเดินไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ วางรากฐานของประเทศไทยในทศวรรษหน้า ให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ  มีศักดิ์ศรี ประเทศไทยในปี 2568 จะเป็นปีแห่ง “โอกาส” รัฐบาลจะสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างอนาคตที่เป็นจริง โดย 6 นโยบายระยะยาว ประกอบด้วย

แก้ไขปัญหา “น้ำท่วม – น้ำแล้ง”

นโยบายแรกคือ การแก้ไขปัญหา “น้ำท่วม – น้ำแล้ง” น้ำต้องเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค เกษตร และอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการทั้งระยะสั้น – กลาง – ยาว ทั้งในเรื่องการศึกษาแนวทาง
ที่จะอนุญาตให้ประชาชนขุดลอกคูคลอง ศึกษาการแก้กฎหมาย ให้ประชาชนนำดินที่ขุดลอกคูคลองไปใช้ประโยชน์ได้ โดยให้กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแก้กฎหมายอนุญาตให้ประชาชน สามารถนำดินจากการขุดลอกคูคลองไปใช้ประโยชน์ หรือนำไปขาย สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายในการขุดเอง ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดินในแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ ยังให้มีการศึกษาโครงการ Flood Way และโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ต้องมีการเจรจา และประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดำเนินการในเรื่องนี้

แก้ปัญหาหมอกควัน ตั้ง KPI PM 2.5 จะต้องลดน้อยลงทุกปี

สำหรับปัญหา “หมอกควัน” นายกรัฐมนตรี ประกาศ KPI ว่า PM 2.5 จะต้องลดน้อยลง ทั้งในแง่ปริมาณฝุ่นและตัวเลขประชาชนที่ป่วยจากฝุ่นต้องลดลงทุกปี ปัจจุบันรัฐบาลได้ควบคุมการเผาในประเทศ
การเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้ลดการเผา และการออกกฎหมาย พ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่อยู่ในขั้นตอนทบทวนข้อกฎหมาย และเตรียมเสนอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมหารือกับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งกำหนดมาตรการในการป้องกันมลพิษทางอากาศ ทั้งจากการเผาในภาคการเกษตร ควันและไอเสียของรถยนต์ และ ฝุ่นควันจากภาคอุตสาหกรรม เช่น มาตรการไม่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร เช่น อ้อย ข้าวโพด ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามีกระบวนการผลิตที่ใช้การเผา

จากที่รัฐได้ออกมาตรการที่จริงจัง ทำให้ปัญหาฝุ่นควันและปริมาณคนป่วยจากฝุ่นพิษ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่นั้น จุด Hot spot และพื้นที่เผาไหม้ลดลงจากปี 2566 คิดเป็นร้อยละ 50% และแนวโน้มสถานการณ์ปี 2568 จึงมีแนวโน้มไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับปี 2566 ขณะที่ในส่วนของ กทม. มีการสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการป้องกันปัญหา PM 2.5 โดยจำนวนวันที่ตรวจพบ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในปีนี้เมื่อเทียบกับปี 2566 ลดลงเกือบ 20%

พัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเบาะแสยาเสพติดส่งตรงถึงนายกฯ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการทำแพลตฟอร์มให้ประชาชนได้สามารถแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับยาเสพติดส่งถึงนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง ซึ่งจะมีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้แจ้งให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ รวมถึงรัฐบาลจะใช้โมเดล โครงการท่าวังผาโมเดล (จ.น่าน)  และธวัชบุรีโมเดล (จ.ร้อยเอ็ด) มาใช้ในการแก้ปัญหายาเสพติดด้วย และให้มีการขยายการดำเนินการดังกล่าวไปทั่วประเทศต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำเนินการในเรื่องนี้

เร่งปลดล็อกทุนผูกขาด

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “การผูกขาดทุกชนิด เป็นการเพิ่มต้นทุนให้ประชาชน และทำให้พี่น้องประชาชนยากจนลง” รัฐบาลจะเร่งดำเนินการปลดล็อกการผูกขาด โดยเฉพาะเรื่องข้าว ที่ตั้งเป้าให้เกษตรกรทุกคนและผู้ค้าข้าว SMEs สามารถส่งออกข้าวไปทั่วโลกได้เอง หรือการปลดล็อกการผูกขาดราคาพลังงานด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย เพื่อปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานให้ถูกลงให้ได้ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดำเนินการเรื่องนี้

นำธุรกิจนอกระบบ เข้าสู่ระบบ ปกป้องประชาชน

รัฐบาลจะนำธุรกิจใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินและกำกับให้ถูกกฎหมาย คาดว่าธุรกิจใต้ดินมีมูลค่ากว่า 49% ของ GDP ไทย รวมไปถึงการที่รัฐบาลจะส่งเสริมเรื่องของสุราชุมชน ซึ่งเชื่อว่าเกษตรกรจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เนื่องจากพบว่าข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของไทย เช่น ซอฟต์ดริงก์ ทั้งน้ำแร่ หรือน้ำหวานต่าง ๆ มีการส่งออกมากกว่าปีละ 7 หมื่นล้านบาท และรัฐสามารถเก็บภาษีได้ถึง 185,000 ล้านบาท/ปี การแก้ปัญหานี้จะทำให้รัฐบาลปกป้องประชาชนได้และทำให้รัฐจัดเก็บได้มากขึ้นด้วย โดยมอบให้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปดำเนินการต่อไป

ตั้งเป้าไทยเป็น AI Hub ของภูมิภาค

สำหรับเรื่องเทคโนโลยี และ AI รัฐบาลไทยตั้งเป้าจะเป็น AI Hub ของภูมิภาค เนื่องจากในปัจจุบันมีบริษัทใหญ่มาลงทุนทำศูนย์ข้อมูล (Data center) เป็นเงินลงทุนมากกว่าล้านล้านบาทแล้ว ขณะนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะสร้างคนในเรื่องของเทคโนโลยีและ AI โดยให้ไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น ตั้งเป้า 280,000 คน ภายใน 5 ปี เพื่อให้ประเทศไทยรองรับกับธุรกิจนี้ในอนาคต รวมไปถึงการขับเคลื่อนดำเนินการในเรื่องพลังงานสีเขียว (Green Energy) เพื่อดึงดูดนักลงทุนและให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เดินหน้า 5 นโยบายหลัก เกิดขึ้นจริงในปี 68

ในส่วนของนโยบายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการนำนโยบาย “หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน” หรือ ODOS (One District One Scholarship) กลับมาอีกครั้ง โดยใช้งบประมาณจากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งมีโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กไทยได้ไปฝึกภาษาที่ต่างประเทศเป็นเวลาสั้นๆในโครงการ “1 อำเภอ 1 ซัมเมอร์แคมป์” และโครงการอัปเกรดโรงเรียนประจำอำเภอ ทำให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ เติมครู เติมเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา และ AI ให้เด็กๆ ในทุกอำเภอ เพื่อเตรียมพร้อมเด็กไทยสู่การเติบโตที่เข้มแข็งและแข็งแรง และมีการศึกษาที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะเริ่มให้ลงทะเบียนในปี 2568 นี้ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดำเนินการและบูรณาการทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ รวมไปถึงการให้โอกาสคนทุกตำบลหมู่บ้านในการคิดและลงมือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ผ่านโครงการ SML ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่จะกระจายโอกาสและเงินลงไปในทุกหมู่บ้าน พร้อมกับกองทุนเพื่อฟื้นฟู SMEs ซึ่งเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทยอีกกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs กลับมายืนได้อย่างเข้มแข็ง

“บ้านเพื่อคนไทย” ความหวังของคนไทยที่อยากมีบ้าน

นอกจากนี้ยังมี โครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” (Public Housing) คอนโดคุณภาพดีพร้อมเฟอร์นิเจอร์พร้อมอยู่ เริ่มต้นประมาณ 30 ตารางเมตร ผ่อนเดือนละประมาณ 4,000 บาท ระยะเวลา 30 ปี และให้สิทธิอยู่อาศัย 99 ปี ที่จะเป็นความหวังของคนไทยที่อยากมีบ้าน โดยมอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ขับเคลื่อนรถไฟฟ้า 20 ตลอดสายให้เกิดขึ้นจริง

หนึ่งในโครงการที่ประชาชนรอคอยคือ “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” เพราะรัฐบาลรับรู้ถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่สูงลิ่ว ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และในวันนี้ที่เมืองต้องถูกขยาย มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกไปอาศัยนอกเมือง จำเป็นต้องใช้รถไฟฟ้าและขนส่งมวลชนอื่นๆ เพื่อเดินทางเข้ามาทำงานยังใจกลางเมือง ประชาชนไม่ควรต้องเสียค่าเดินทางแพงเกินไป ในปี 2567 ได้มีการทำโครงการนำร่อง “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ไปแล้ว ในสายสีแดงและสายสีม่วง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน โดยในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้น 17.70 % (23 ต.ค. 67) และสายสีแดงเพิ่มขึ้น 50 % (24 ก.ย. 67)หัวใจของรถไฟฟ้า 20 บาท คือการทำให้รถไฟฟ้า เป็นของประชาชนทุกคน ต้องเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดย ภายในปี 2568 คนไทยจะขึ้นรถไฟฟ้าในราคาเดียวคือ 20 บาท และไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่สาย หากยังอยู่ในระบบจะจ่ายเพียง 20 บาทราคาเดียว เป็นนโยบายที่รัฐบาลจะช่วยเหลือลดรายจ่าย เพิ่มเงินในกระเป๋าของประชาชน

โครงการเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 เงินสดจะถึงมือผู้สูงอายุประมาณ 4 ล้านรายไม่เกินตรุษจีนนี้

ในส่วนของการดำเนินโครงการเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 นายกรัฐมนตรีประกาศว่า เงินสดจะถึงมือผู้สูงอายุประมาณ 4 ล้านรายไม่เกินตรุษจีนนี้  หลังจากนั้น จะดำเนินการระยะที่ 3 สำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งจะได้รับเงินผ่าน Digital Wallet ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญเชื่อมต่อระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และจะกระตุ้นเศรษฐกิจทันทีที่ระบบเสร็จ กำหนดอยู่ภายในปี 2568 การซื้อขาย ชำระเงินกับรัฐ หรือร้านค้าทั่วไป จะใช้ Digital Wallet เป็นเครื่องมือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องพร้อมกับยกระดับประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล เกิดการเชื่อมต่อระหว่างภาครัฐและประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น 

แก้หนี้ครัวเรือน เน้นหนี้ “รถยนต์” และ “บ้าน”

หนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจไทย รัฐบาลจึงออกมาตรการพักดอกเบี้ย 3 ปี สำหรับหนี้เสียที่ขาดส่ง 1 ปี เลือกหนี้บ้าน รถ SMEs ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่ม “หนี้ดี” ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคาร ตกลงที่จะลดการส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูลง 0.23% ซึ่งเป็นเงินกว่า 39,000 ล้านต่อปี และธนาคารพาณิชย์จะเติมให้อีก 39,000 รวมกันเป็น 78,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อพักดอกเบี้ย 3 ปี ให้ลูกหนี้จ่ายคืนเงินต้นได้เต็มจำนวน โดยจะเริ่มดำเนินการในต้นปี 2568 พร้อมมาตรการประนอมหนี้แบบพิเศษที่จะล้างหนี้ให้ทั้งหมด สำหรับลูกหนี้มูลหนี้ต่ำกว่า 5,000 บาท โดย 2  ปีกว่าๆ ที่เหลืออยู่ของรัฐบาลประชาชนต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจต้องดีขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

 “ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นจริงในปี 2568 ซึ่งเราได้เห็นกันแล้วว่า ความหวัง ความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นอนาคตที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ และเกิดขึ้นอย่างแน่นอน วันนี้คณะรัฐมนตรี ทีมข้าราชการ นักการเมือง ประชาชน เราต่างมีหัวใจเดียวกันคือ การทำงานเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชน การทำให้ประไทยดีขึ้น วันนี้อยากให้เพื่อนข้าราชการทุกท่านยึดคติในใจว่า หลังจากนี้ จะเป็นปีแห่งการสร้าง “People Empowerment” เพิ่มอำนาจประชาชน ลดอำนาจเรา หรือการลดและเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส