81 views

ยืนยันนวดไทยไม่ทำให้เสียชีวิต กรมการแพทย์แผนไทยฯ และ กรม สบส. แนะท่านวดที่ถูกต้องได้มาตรฐาน


จากกรณีข่าวการเสียชีวิตของหมอลำสาวรถแห่ “ผิง ชญาดา” ที่เสียชีวิตหลังโคม่าในไอซียูและเคยได้โพสต์ถึงอาการของตนเองที่เกิดขึ้น โดยเอ่ยถึงการนวดแผนโบราณกับหมอนวดในเมืองอุดรธานีที่มีการใช้ท่า “หักคอ หรือบิดคอ” ก่อนที่อาการปวดจะทวีความรุนแรง จนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในเฟซบุ๊กส่วนตัว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกรณีสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วย “ผิง ชญาดา” ว่า ภายหลังข้อมูลการเอ็กซเรย์และการตรวจ MRI สรุปวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็นโรคไขสันหลังอักเสบและเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนวด และขอให้ประชาชนมั่นใจเรื่องการนวดแผนไทยและการแพทย์แผนไทย เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีการจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อการตรวจคุณภาพสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทยให้มีมาตรฐาน

กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำการนวดไทยที่ถูกต้อง

นอกจากนี้แล้ว นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ให้ข้อมูลถึงศาสตร์การรักษา “นวดแผนไทย” ว่า การนวดไทยเป็นกระบวนการดูแลสุขภาพที่ต้องมีหลักการหรือองค์ความรู้ในการนวดตามแนวเส้นประธานสิบ ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อย สำหรับการนวดไทยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การนวดเพื่อผ่อนคลาย/นวดเพื่อสุขภาพและการนวดเพื่อการรักษา ประกอบด้วย หลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง กลุ่มนี้จะไม่มีการบิด ดัด แต่เป็นการนวด คอ บ่า แขน ขา สะบักและหลัง วัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หลักสูตรการนวดเพื่อการรักษาเป็นหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ 330 ชั่วโมง 372 ชั่วโมง 800 ชั่วโมง และ 1,300 ชั่วโมง วัตถุประสงค์เพื่อบำบัดรักษาแต่ละกลุ่มอาการ เช่น กลุ่มปวดกล้ามเนื้อ นิ้วล็อก หัวไหล่ติด อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น

ทั้งนี้ การนวดบริเวณคอในแพทย์แผนไทยนั้น มีวิธีการและท่าทางที่ต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากคอเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดใหญ่ เส้นประสาทและกระดูกที่สำคัญ ดังนั้น การนวดในพื้นที่นี้ควรทำด้วยความรู้และความระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ หรือการทำให้ปัญหาที่มีอยู่รุนแรงขึ้น โดยท่านวดบริเวณคอ ประกอบด้วย

  • การนวดคลึง: เป็นการคลึงเบาๆ ที่กล้ามเนื้อบริเวณคอทั้งสองข้าง (ที่มีความตึงเครียด) โดยใช้ปลายนิ้ว หรือข้อนิ้วช่วยในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและบรรเทาความตึงเครียด
  • การกดจุด: เป็นการใช้แรงกดในจุดต่างๆ บริเวณคอ เช่น บริเวณจุดต้นคอเพื่อกระตุ้นการผ่อนคลาย
  • การบิดหรือหมุนคอ: เป็นการบิดคออย่างนุ่มนวลและระมัดระวัง ซึ่งไม่ควรบิดเกินขีดจำกัดของ
    ความยืดหยุ่นของคอ โดยต้องใช้การหมุนที่ไม่รุนแรงและทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • การยืดคอ: เป็นการยืดคออย่างเบาๆ โดยการดึงคอหรือหมุนศีรษะไปด้านข้าง เพื่อช่วยเพิ่ม
    ความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง
  • การนวดเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ: เป็นการนวดบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นในคอเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

สำหรับข้อห้ามและข้อควรระวังในการนวดคือ ห้ามนวดบริเวณที่เป็นมะเร็ง ห้ามนวดผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38.5 องศา ห้ามนวดบริเวณที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน ผู้ที่มีภาวการณ์แข็งตัวของเลือดผิดปกติ ห้ามนวดบริเวณกระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ที่ยังไม่หายดี และห้ามนวดผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนังทุกชนิดส่วนข้อควรระวัง ได้แก่ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ที่ใส่อวัยวะเทียม หลังผ่าตัดกระดูก ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง และผู้ที่เพิ่งรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ (ไม่เกิน 30 นาที) และก่อนให้บริการนวดไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส