67 views

ผลงานรัฐบาล กระตุ้นการท่องเที่ยวไทยทุกมิติฟื้นเศรษฐกิจ


รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินนโยบายด้านการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมในทุกมิติ อาทิ เทศกาล Thailand Winter Festivals 2024 แคมเปญ
“สุขท้าลอง 72 สไตล์” รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสนามบิน และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
โดยในปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น 7.5% สร้างรายได้
3.4 ล้านล้านบาท คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคน และเกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากกว่า 205 ล้านครั้งทั่วประเทศไทย ทั้งนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็น
1 ใน 8 เสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง การท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำประเทศไทยสู่จุดหมาย ปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก

(12 ก.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนโยบายด้านการท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการทันที โดยรัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad)
ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man – made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัด
ในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

เปิดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว “Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” ตั้งเป้าปี 68 รายได้การท่องเที่ยวโต 7.5%

          (7 ต.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำระดับโลกเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย (Round Table Meeting) โดยมีทั้งหมด 6 บริษัท ได้แก่ 1) Grab 2) Agoda 3) Expedia 4) IHG และ Marriott International 5) Trip.com Group และ 6) การบินไทย ซึ่งโอกาสนี้ถือเป็นความร่วมมือของรัฐบาลและภาคเอกชนในการผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ผ่านแคมเปญการท่องเที่ยวไทย “Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงภาคการท่องเที่ยวของประเทศ

          โดยในปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น 7.5% และตั้งเป้าหมายรวมไว้ที่ 3.4 ล้านล้านบาท พร้อมคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคน และเกิดการเดินทางภายในประเทศมากกว่า 205 ล้านครั้งทั่วประเทศไทย ทั้งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกและสถานที่อันน่าค้นหา (Hidden Gems) ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลข หากแต่เป็นตัวแทนของความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก ที่มีชื่อเสียงในด้านมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ความงดงามทางธรรมชาติ และการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้นผ่านโครงการต่าง ๆ ดังนี้

  1. มนต์เสน่ห์ไทย (Thai Charms) นำเสนอประสบการณ์ทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ประเทศไทยมีความพิเศษ ตั้งแต่อาหารที่มีชื่อเสียงระดับโลกไปจนถึงศิลปหัตถกรรมแบบดั้งเดิม
    โดยเน้นย้ำถึงแก่นแท้ของวัฒนธรรมไทย
  2. เมืองมนต์เสน่ห์ซ่อนเร้น (Hidden Gem Cities) ส่งเสริมจุดหมายปลายทางที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้มาเยือน ขณะเดียวกันยังเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้ทั่วถึงทั้งประเทศ นำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่ทุกภูมิภาค
  3. แนวคิด 5 กิจกรรมท่องเที่ยว 5 Must – Do in Thailand ประกอบด้วย
  4. ต้องชิม (Must Taste) สัมผัสรสชาติอันหลากหลายของอาหารไทย
  5. ต้องลอง (Must Try) สัมผัสความตื่นเต้นของมรดกทางวัฒนธรรม เช่น มวยไทย
  6. ต้องช้อป (Must Buy) ค้นพบแฟชั่นไทยและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงงานหัตถกรรมพื้นบ้าน
  7. ต้องแสวงหา (Must Seek) สำรวจจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ และประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร
  8. ต้องชม (Must See) เพลิดเพลินกับเทศกาลไทยอันคึกคักและงานอีเวนต์ระดับนานาชาติที่สำคัญ เช่น เทศกาลลอยกระทง งานสงกรานต์ และเทศกาล Thailand winter festival

เพิ่มขีดความสามารถด้านเที่ยวบิน ยกระดับการเชื่อมโยงให้ประเทศไทยเข้าถึงได้ง่าย

นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายตลาดที่มีศักยภาพทั่วโลก โดยจะเพิ่มขีดความสามารถด้านเที่ยวบิน และยกระดับการเชื่อมโยงซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เชื่อมต่อได้มากขึ้น และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก โดย “Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” นั้นเป็นมากกว่าแคมเปญ ถือเป็นวิสัยทัศน์สู่อนาคตที่สดใส เจริญรุ่งเรือง และครอบคลุม

ทั้งนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็น 1 ใน 8 เสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สะท้อนถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นำประเทศไทยสู่จุดหมายปลายทางของ
การท่องเที่ยวระดับโลก

Thailand Winter Festivals ผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและงานเทศกาลระดับโลก (festival Hub)

          (28 ต.ค. 67) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ดำเนินการจัดกิจกรรมอีเวนต์และเฟสติวัลหลากหลายและครอบคลุมในทุกมิติ
กับเทศกาล Thailand Winter Festivals 2024 ภายใต้แนวคิด “7 Wonders of Thailand” ในช่วงเวลาพิเศษของประเทศไทย ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี โดยมีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและงานเทศกาลระดับโลก (festival Hub)

          เทศกาล Thailand Winter Festivals เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมสัมผัสความมหัศจรรย์ของกิจกรรมไฮไลท์ “7 Wonders of Thailand” ดังนี้

  1. เทศกาลลอยกระทง ประเพณีลอยกระทงอันทรงคุณค่าสะท้อนความเป็นไทยอย่างสร้างสรรค์จาก
    อัตลักษณ์ท้องถิ่นบนรากฐานทางวัฒนธรรม โดยมีการจัดงานทั่วประเทศ อาทิ งานสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ณ คลองผดุงกรุงเกษม ประเพณีเผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประเพณียี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่ ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง จังหวัดตาก
  2. เทศกาล Countdown ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสสู่การส่งท้ายปีแบบยิ่งใหญ่ตระการตา ทั้งการจัดแสดงพลุและแสงสีเสียงสื่อผสม การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงทางวัฒนธรรม ไปจนถึงการขึ้นปีใหม่แบบไทยด้วยการสวดมนต์ข้ามปีและการทำบุญตักบาตร อาทิ 1) Amazing Thailand Countdown 2025 ในวันที่ 28 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568 กรุงเทพฯ 2) งาน ICONSIAM Amazing Thailand Countdown 2025 วันที่ 29 – 31 ธันวาคม 2567 3) งาน CentralwOrld Bangkok Countdown 2024 วันที่ 31 ธันวาคม 2567
    4) Amazing Chiang Mai Countdown 2025 วันที่ 21 – 31 ธันวาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่
    5) HATYAI COUNTDOWN 2025 วันที่ 31 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568 จังหวัดสงขลา และ 6) เทศกาลปีใหม่ Suphanburi Festival 2024 วันที่ 29 – 31 ธันวาคม 2567 จังหวัดสุพรรณบุรี
  3. กิจกรรมเชิงกีฬา เช่น งาน Amazing Thailand Marathon Bangkok การแข่งขันวิ่งเทรล Hoka Chiang Mai Thailand by UTMB และ งานเชียงใหม่มาราธอน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค. 67
  4. กิจกรรมด้านวัฒนธรรม นำเสนออัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นประจำท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อาทิ มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ งานใส่ไทย เฟสติวัล (Sai Thai Festival) จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสุรินทร์ และงานประเพณีแห่ดาวคริสต์มาส วันที่ 20 – 25 ธันวาคม 2567 จังหวัดสกลนคร
  5. เทศกาลอาหาร เช่น มหกรรมอาหาร ฟู้ด เฟสติเว่อร์ วันที่ 11 – 15 ธันวาคม 2567 กรุงเทพฯ
    งานเทศกาลปลาร้าหมอลำ Isan To The World วันที่ 26 – 29 ธันวาคม 2567 จังหวัดขอนแก่น และ Hidden Gem Food Festival วันที่ 11 – 15 ธันวาคม กรุงเทพฯ
  6. เทศกาลดนตรี เพิ่มความคึกคักด้วยกิจกรรมทางด้านดนตรี ซึ่งจะจัดขึ้นในหลายพื้นที่ อาทิ Wonderfruit วันที่ 12 – 16 ธันวาคม 2567 จังหวัดชลบุรี Rolling loud Thailand 2024 ณ Legend Siam พัทยา เชียงใหม่เฟส จังหวัดเชียงใหม่ Big Mountain จังหวัดนครราชสีมา และเทศกาลดนตรีนานาชาติ Maho Rasop จังหวัดปทุมธานี
  7. เทศกาลแสงสี (Lighting & Illumination) พบกับมหาปรากฏการณ์แสดง แสง เสียง พลุ โดรน
    สุดยิ่งใหญ่ในงาน Vijit Chao Phraya 2024 วันที่ 16 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2567 ณ บริเวณสถานที่สำคัญริมแม่น้ำเจ้าพระยา งาน Awakening Bangkok ย่านเมืองเก่าพระนคร กรุงเทพฯ งาน Night at the Museum Festivals 2024 วันที่ 5 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568 ณ มิวเซียมสยาม และพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้กว่า 24 แห่งทั่วกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ รัฐบาลเชื่อมั่นว่า เทศกาล Thailand Winter Festivals 2024 จะสามารถสร้างบรรยากาศของการเดินทางท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่น ความสุข และความประทับใจให้กับชาวไทยและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ทางการท่องเที่ยวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

ททท. เปิดตัวแคมเปญ “สุขท้าลอง 72 สไตล์” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศส่งท้ายปี

          (9 พ.ย. 67) รัฐบาล โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระตุ้นท่องเที่ยวปลายปี เปิดตัวแคมเปญ “สุขท้าลอง 72 สไตล์” พร้อมจัดทำ E – book รวบรวมกิจกรรม 5 MUST DO สร้างจุดขายมุมมองใหม่กับเส้นทางท่องเที่ยว 72 เส้นทาง 72 สไตล์ จากแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย ด้วยการจัดทำ E – book ท้าให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวผ่านแนวคิด 5 Must Do in Thailand ให้ไปทำ ไปดู ไปกิน ไปเห็นด้วยตัวเองอย่างแท้จริง เพื่อปลุกกระแสการท่องเที่ยวไทยในช่วงปลายปีอีกทั้งเพิ่มแรงส่งให้เกิดกระแสการเดินทางท่องเที่ยวต่อเนื่องไปถึงปี 2568 เพิ่มความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดปี เพิ่มการใช้จ่ายกระจายตัวสู่จังหวัดต่าง ๆ อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกเมืองในประเทศไทยเป็นเมืองน่าเที่ยว และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน ในส่วนของเมืองน่าเที่ยวจะเพิ่มพลังให้เป็นเมืองที่น่าไปเที่ยวไปเยือนมากยิ่งขึ้น เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยดึงกลยุทธ์ City Marketing พัฒนาเมืองต่าง ๆ ให้เติบโตเข้าใกล้ความเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยว ค้นหาจุดขาย พลิกมุมมอง บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไทยของแต่ละพื้นที่ หมุนเวียนกันไปจากเมืองสู่เมือง จากภาคสู่ภาค เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นไฮซีชั่นตลอดทั้งปี

เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น

          (10 พ.ย. 67) นาวสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรี ติดตามการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวก นักท่องเที่ยว เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมต้อนรับเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น สำหรับการบริการด้านต่าง ๆ เช่น การเช็คอินเกิดความสะดวกไม่ล่าช้าจนกระทบแผนการท่องเที่ยว การใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความรวดเร็วให้กับนักท่องเที่ยว และขอให้ดูแลนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย ทั้งเรื่องกฎระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ

          กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้รายงานว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (ต.ค. 66 – พ.ย. 67) มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 19.2% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และญี่ปุ่น และตารางบินฤดูหนาวคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารสูงสุดที่ประมาณ 7,000 คน/ชม. โดยมีความจุของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขาเข้า ประมาณ 7,140 คน/ชั่วโมง ขาออก 5,500 คน/ชั่วโมง

นโยบายฟรีวีซ่า ทำยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 140%

          สำหรับเป้าหมายการท่องเที่ยวในปีนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตัวเลขเติบโตใกล้เคียงกับปี 2019
แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนของเชื้อชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะมีประเทศอินเดียเพิ่มมากขึ้น ผลสืบเนื่องมาจากอดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้ทำนโยบายฟรีวีซ่าไว้ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 140% ซึ่งก่อนหน้านี้ (28 พ.ค. 67) ครม. เห็นชอบมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกการตรวจลงตราเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย โดยมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. มาตรการระยะสั้น 5 มาตรการ (เริ่มใช้ 1 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป) ได้แก่
  2. การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจและการทำงานระยะสั้น จำนวน 93 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม บาห์เรน บรูไน แคนาดา เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เป็นต้น (เดิมพำนักได้ 30 วัน จำนวน 57 ประเทศ/ดินแดนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ)
  3. ปรับปรุงรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA) จำนวน 31 ประเทศ/ดินแดน เช่น อาร์เมเนีย บัลแกเรีย ภูฏาน โบลิเวีย จีน จอร์เจีย อินเดีย คาซัคสถาน เป็นต้น (เดิม จำนวน 19 ประเทศ)
  4. เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) เพื่อให้คนต่างด้าวที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล (remote worker หรือ digital nomad) ซึ่งประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน (workcation) สามารถพำนักในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 180 วัน อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา 10,000 บาท อายุการตรวจลงตรา 5 ปี และมีสิทธิขยายระยะเวลาพำนักในประเทศไทยได้ 1 ครั้ง ไม่เกิน 180 วัน โดยชำระค่าธรรมเนียม 10,000 บาท และขอเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตราในประเทศได้ โดยการตรวจลงตราเดิมจะสิ้นสุด
  5. ปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจ
    ลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED ขยายเวลาพำนักในประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา 1 ปี เพื่อหางาน เดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ แทนที่จะต้องเดินทางออกนอกประเทศทันทีที่สำเร็จการศึกษา
  6. เห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการตรวจลงตราเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายการตรวจลงตราของประเทศไทย
  7. มาตรการระยะกลาง 3 มาตรการ (เริ่มใช้ 1 กันยายน – ธันวาคม 2567) ได้แก่
  8. จัดกลุ่มและปรับลดรหัสกำกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิม 17 รหัส เหลือ 7 รหัส เริ่มดำเนินการในเดือนกันยายน 67
  9. ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวพำนักระยะยาว
    (Long Stay) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย เริ่มดำเนินการในเดือนกันยายน 67 โดยการปรับลดเงินประกันสุขภาพสำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิมจำนวน 3,000,000 บาท ให้เหลือเท่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ 40,000 บาท สำหรับผู้ป่วยนอก และ 400,000 บาท สำหรับผู้ป่วยใน พร้อมเพิ่มประเทศ/ดินแดนที่คนต่างด้าวสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) เพื่อพำนักระยะยาวในประเทศไทย
  10. ขยายการเปิดให้บริการการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ให้ครอบคลุมสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยทุกแห่งทั่วโลก ภายในเดือนธันวาคม
    ปี 2567 (เดิมให้บริการ 47 แห่งจากทั้งหมด 94 แห่ง) เป็นต้น
  11. มาตรการระยะยาว (เริ่มใช้เต็มรูปแบบเดือนมิถุนายน 2568) เป็นการพัฒนาระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองคนต่างด้าว โดยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แบ่งเป็น
  12. ระยะที่ 1 เปิดระบบให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2567 (ระบบ ETA ชั่วคราว) พร้อมระบบ
    e-Visa ที่จะครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งจะยกเว้นให้ผู้ถือหนังสือเดินทาง 3 สัญชาติ ได้แก่ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ที่เดินทางข้ามแดนทางบกไม่ต้องกรอกข้อมูลผ่านระบบ ETA
  13. ระยะที่ 2 ภายในเดือนมิถุนายน 2568 เป็นระบบ ETA ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะรวมระบบ e-Visa และระบบ ETA ไว้ในระบบเดียวกัน (Single Window Submission) โดยคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตราจะต้องลงทะเบียนก่อนเข้าประเทศไทยทุกคน ซึ่งรวมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

พัฒนาอุตสาหกรรมการบิน สร้างโอกาสไทยเป็น Aviation Hub

          (5 ธ.ค. 67) รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม เดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ สำหรับการคมนาคมทางอากาศ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็น Aviation Hub ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านการบินของเอกชนในประเทศ และสนับสนุนการเชื่อมโยงการให้บริการด้านการบินกับการท่องเที่ยวในประเทศ
เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีแผนการพัฒนาด้านคมนาคมทางอากาศ 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะเร่งด่วน มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก สร้างรอยยิ้มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้มาใช้บริการสนามบิน เช่น การนำระบบการออกบัตรโดยสารด้วยตัวเอง (CUPPS) หรือการนำระบบโหลดกระเป๋าด้วยตัวเอง (CUBD) มาใช้ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางจากสนามบินกับการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ระยะกลาง มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของท่าอากาศยานหลักของประเทศให้สามารถรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินได้มากขึ้น
  • ระยะยาว ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนา และท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งทั้ง 2 สนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573 รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งระบบ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส