กระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษายกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนกีฬา และหน่วยงานการศึกษาในสังกัดอื่น และใช้ 4 แนวทางหลัก “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” เพื่อแก้ปัญหา Zero Dropout พร้อมสำรวจความเสียหาย โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการสำหรับฟื้นฟู ซ่อมแซมอาคารสถานที่ หนังสือหรืออุปกรณ์การเรียน รวมทั้งเร่งเสนอของบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นไปใช้ในการฟื้นฟูหน่วยงาน/สถานศึกษาในสังกัด ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้โดยด่วน
(4 ธ.ค. 67) พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 42/2567 ทั้งนี้ รมว.ศธ. ได้กล่าว ขอบคุณในความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ทำให้งานต่าง ๆ มีความคืบหน้า ทั้งในเรื่องของการขับเคลื่อน PISA การแก้ไขปัญหา Zero Dropout และฝาก 4 แนวทางการดำเนินงานในการ “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” เพื่อนำ “เด็กไทย” ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายที่มีการขับเคลื่อนเป็นอย่างดี
ยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ขยายเครือข่ายไปยังหน่วยงานการศึกษาสังกัดอื่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การดำเนินงานขับเคลื่อนในหลายหน่วยงานนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี ต้องขอขอบคุณ สพฐ. ที่มีการขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนกีฬา หน่วยงานการศึกษาในสังกัดอื่น และให้ขยายผลสู่โรงเรียนเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อนำองค์ความรู้ PISA ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งในการดำเนินงานในหน่วยงานที่ต่างกัน ย่อมมีบริบทที่แตกต่างกันไปด้วย จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันในการปฏิบัติงาน
โดยการขยายผลพัฒนา และสร้างข้อสอบความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในรูปแบบออนไลน์ Classroom 78 Classroom 77 จังหวัด + 1 ซึ่งนอกจากจะมีห้องเรียน Classroom สำหรับครูทั้ง 3 ด้านแล้ว ยังมี classroom สำหรับผู้บริหารและครูกลุ่มสาระอื่น ทำให้ทั้งผู้บริหารและครูในโรงเรียน ได้รับทราบถึงแนวทางการสร้างและพัฒนาข้อสอบไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับครูที่นำไปใช้ในห้องเรียน หรือผู้บริหารที่มีการกำกับติดตามในเขตพื้นที่การศึกษา มีผลการดำเนินงานที่ดีและมีประสิทธิภาพจะได้รับรางวัลการนำเสนอยอดเยี่ยม จาก รมว.ศธ. เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
นอกจากนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ยังได้จัดทำวีดิทัศน์แนะนำเกี่ยวกับ PISA และหลักสูตรการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ฯ และวีดิทัศน์การอบรม
เชิงปฏิบัติการเรื่อง “การสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถชมวีดิทัศน์ผ่านทาง YouTube สาขาประเมินผลทางการศึกษา สสวท. ทั้งนี้ในปีหน้า สสวท.ที่ผลักดันดำเนินการเรื่องนี้ จะต้องเตรียมดำเนินการจัดสอบ PISA 2025 ต้องวางตัวเป็นกลาง โดย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
จะเข้ามาเป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่แทน
PISA คืออะไร
โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Program for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co – operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในการ เตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ปัจจุบันนี้มีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วม PISA มากกว่า 80 ประเทศ
มอบ สกศ. เป็นหน่วยงานหลักแก้ไขปัญหา Zero Dropout
ในส่วนของการแก้ไขปัญหา Zero Dropout (เด็กนอกระบบการศึกษาเป็นศูนย์) รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหา Zero Dropout โดยมีการดำเนินงานอย่างรวดเร็ว และมีการปรับระบบร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพในการติดตาม และจัดการปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา โดยให้ใช้นิยามของ “เด็กนอกระบบการศึกษา” ให้ตรงกันทุกหน่วยงาน รวมถึงการใช้ฐานข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีและสารสนเทศ ของ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) เป็นหลัก ในการติดตามข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษา และใช้เครื่องมือ OBEC Zero Dropout ในการติดตามและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา
ทั้งนี้ ยังได้กำหนดมาตรการให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ออกมาตรการให้สถานศึกษาเอกชนจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับเด็กทุกคน รวมถึงเด็กที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในสถานศึกษาเอกชน และให้เร่งค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่เรียนในศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 เพื่อปรับปรุงข้อมูลในระบบให้มีความถูกต้องและครบถ้วนมากที่สุด รวมถึงการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับเด็กวัยเรียนที่ไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ เด็กที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย และจำแนกข้อมูลช่วงอายุในการศึกษาภาคบังคับ
เด็กไทยที่อยู่นอกระบบฯ 1.02 ล้านคน ซึ่งมีเด็กไทย 767,304 คน และเราต้องร่วมมือกันค้นหา เด็กไทยอีก 402,073 คน เพื่อนำกลับเข้าระบบฯ สิ่งสำคัญในการสำรวจเด็กที่ออกจากระบบการศึกษา คือการให้ความสำคัญกับ “เด็กไทย” ทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสในการศึกษา และลดปัญหาการหลุดจากระบบการศึกษา ร่วมมือกัน “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” ทำอย่างไรเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว ต้องไม่หลุดจากระบบอีก
- ป้องกัน หาสาเหตุและนำมาวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา
- แก้ไข โดยพาน้องกลับมาเรียน และนำการเรียนไปให้น้อง เข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น
- ส่งต่อ บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อช่วยเหลือนักเรียนรายบุคคล ด้วยวิธีการที่เหมาะสม
- ติดตามดูแล ติดตามค้นหาพาเด็กกลับมาเรียน และหากเด็กไม่กลับมาก็จะนำการเรียนไปให้ถึงที่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน ก็จะจัดสื่อการเรียนรู้และครูเข้าไปให้บริการที่โรงพยาบาลหรือที่บ้าน เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
แก้ไขปัญหาการที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในทุกมิติ
(6 พ.ย. 67)กระทรวงศึกษาธิการได้ออกแนวทางการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาการที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในทุกมิติ ดังนี้
- มิติด้านนโยบาย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยได้กำหนดมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการนั้น มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของนโยบายได้มอบหมายให้ สกศ. เป็นหน่วยงานหลักในการวางแผน กำหนดนโยบายแต่งตั้งคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อส่งต่อนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยร่วมกับ สกร. ในการสำรวจเด็กที่หลุดจากระบบให้กลับเข้าสู่ระบบ และจัดการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียน
- มิติด้านการวางแผน การแก้ไขปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา ต้องมีวางแผนที่ครอบคลุม เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด รวมถึงเด็กไทยที่อยู่ต่างประเทศ มีการพัฒนาและการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้โรงเรียนและสถานศึกษามีความพร้อมในการรองรับเด็กจากทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็กที่อาจประสบปัญหาการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งข้อมูลเด็กนอกระบบและเด็กตกหล่นในปี 2565 ถึงปี 2567 อาทิ เด็กในกระบวนการยุติธรรม (เด็กในกรมพินิจกลับมาเรียนต่อในศูนย์การเรียนตามมาตรา 12) เด็กนอกระบบในตำบล เด็กกำพร้า เด็กไร้สัญชาติ
เด็กยากจนพิเศษ และเด็กชาติพันธุ์กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในศูนย์การเรียน ตามมาตรา 12 และหนึ่งโรงเรียน 3 รูปแบบ ตามมาตรา 15 - มิติด้านระบบ มีการจัดทำฐานข้อมูลให้มีความถูกต้อง สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล โดยมอบหมายศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและออกแบบระบบ และบูรณาการข้อมูลร่วมกัน นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดทำระบบติดตามและสนับสนุนผู้เรียนเพื่อการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Student Tracking System) เพื่อที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้มีข้อมูลการศึกษาของเด็ก ทุกช่วงชั้น และต้องมีข้อมูลว่าแต่ละช่วงชั้นผู้เรียนอยู่ในสังกัดใด
เพื่อสามารถติดตามและประเมินผลได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ - มิติด้านพื้นที่ ได้มอบหมายให้ ผู้ตรวจราชการ ศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และทุกหน่วยงานดำเนินงานในส่วนของพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการศาสนา สถานพินิจ กรมราชทัณฑ์ เพื่อเร่งดำเนินการสำรวจเด็กและเยาวชน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาทุกสังกัด และประสานกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อค้นหาเด็กที่ยังไม่เคยเข้าสู่ระบบการศึกษา
ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ภาคเหนือ
รมว.ศธ. กล่าวถึงการประชุม ครม. นอกสถานที่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมาว่า ได้มีการลงพื้นที่ตรวจ
ราชการติดตามผลกระทบและการดำเนินการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและมีความเสียหายค่อนข้างสูง ทั้งห้องเรียน อุปกรณ์การเรียน ต้องขอบคุณทาง สอศ. ที่ออกหน่วยศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix It Center ได้ให้การช่วยเหลือในการซ่อมแซมอุปกรณ์ ระบบไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือ การประสานงานผ่านระบบเครือข่าย เป็นโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามเกิดเหตุต่าง ๆ โดยขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันในการฟื้นฟูสถานศึกษา ซ่อมแซมอาคารเรียน ห้องสมุด อุปกรณ์การเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐาน เร่งซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพตามปกติ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้โดยเร็ว และคืนห้องเรียนให้กับครูและนักเรียน
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน) และจังหวัดเชียงราย รวมทั้งโรงเรียนในสังกัด ได้มีข้อแนะนำและข้อห่วงใยในการค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา Zero Dropout โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาทางด้านวิชาการ ถือเป็นการขับเคลื่อนโมเดล “เชียงใหม่เป็นหนึ่ง” ที่พร้อมจะขับเคลื่อนนโยบายไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา และหามาตรการป้องกันในระยะยาว และมาตรการอื่น ๆ ที่สำคัญ
ติดตามสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ เร่งเสนองบฯ ช่วยเหลือ
จากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายอย่างมากในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งมีสถานศึกษาและหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการได้รับผลกระทบ/ความเสียหาย 2,121 แห่ง สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำท่วม รมว.ศธ. ขอให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน พร้อมสำรวจความเสียหาย โดยเร่ง
ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการสำหรับฟื้นฟู ซ่อมแซมอาคารสถานที่ หนังสือหรืออุปกรณ์การเรียน เพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้โดยเร็ว
โดย ศธ. จะเร่งเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่นให้กับโรงเรียนในสังกัดที่ประสบภัยพิบัติ นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ได้เห็นชอบมาตรการหลักในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟู ผู้ได้รับผลกระทบของ ศธ. ในวงเงิน 264,458,436 บาท ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และให้หน่วยงานเร่งสำรวจความเสียหายและรายงานให้ รมว.ศธ. ทราบทันที
สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้
(6 ธ.ค. 67) เวลา 06.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)รายงานสถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และ นราธิวาส จำนวน 20 อำเภอ 114 ตำบล 728 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 65,700 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 29 ราย (จ.พัทลุง 2 ราย สงขลา 10 ราย ปัตตานี 7 ราย ยะลา 5 ราย นราธิวาส 4 ราย นครศรีธรรมราช 1ราย)
ศธ. เปิดโรงเรียนใช้เป็นศูนย์พักพิงเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้-ชายแดนใต้ ช่วยเหลือครู-นร.ผู้ประสบภัย
จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ในส่วนของ ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ทางกระทรวงศึกษาธิการได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ โดย สพฐ. ได้แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในสังกัด เพื่อแจ้งไปยังโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบและใกล้เคียง ให้เปิดพื้นที่ในโรงเรียนที่สามารถใช้อาคารและสถานที่ภายในบริเวณโรงเรียนเพื่อเป็นศูนย์พักพิงและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่เพื่อดูแลประชาชน พร้อมจัดข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีจิตอาสา ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัยด้วย
หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. โทร.089-569-2959 นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. โทร. 081-780-2897
นายสราวุธ เดชมณีรัตน์ ผอ.สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ โทร.094-919-0111
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตั้งศูนย์ Fix it Center ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และช่วยเหลือดูแลทำความสะอาดบ้านเรือน สถานศึกษา ล้างดินโคลน เร่งฟื้นฟูในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบให้กลับมา
ในสภาพเดิมมากที่สุด รวมถึงการเตรียมการเพื่อจัดการเรียนการสอนให้ทันภาคเรียนในปีการศึกษา
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดที่ ศธ. เน้นย้ำคือ การทำให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” การจัดกิจกรรมต่าง ๆ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนมีความสุข ในขณะเดียวกันการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ก็เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันในการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟู เพราะความปลอดภัยของ
ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ทุกชีวิตสำคัญที่สุด รมว.ศธ. ยืนยันว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”