58 views

รัฐบาลเดินหน้าเยียวยาชาวใต้ บสย. พักหนี้ 6 เดือน ช่วย SMEs ฟื้นฟูกิจการ – กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกมาตรการช่วยนิติบุคคล 8 จังหวัดภาคใต้


รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือจากทุกส่วนราชการ เดินหน้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนรวมถึงลดความสูญเสีย โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กระทรวงการคลัง เร่งเดินหน้าช่วยเหลือผ่านมาตรการเร่งด่วนเยียวยา
“ลูกค้า – ลูกหนี้” น้ำท่วมภาคใต้ เช่น มาตรการช่วยลูกค้า บสย. พักชำระค่าธรรมเนียมและค่าจัดการ
ค้ำประกัน 6 เดือน และ มาตรการช่วยลูกหนี้ บสย. พักชำระค่างวดสูงสุด 6 เดือน ขณะที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เร่งเยียวยาภาคธุรกิจในพื้นที่ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ออกมาตรการกำหนดให้นิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตประสบภัยพิบัติ สามารถขอยืดระยะเวลาการดำเนินการตามกฎหมายได้ และชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาตรการดูแลสินค้าอุปโภค-บริโภค ต้องห้ามขาด ห้ามแพง หากพบสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 และกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมมือกับ กลุ่มบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) ลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 1.00 บาท เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2568 ณ สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของ ซัสโก้ และ ไซโนเปค ทั้ง 158 แห่ง ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้ เนื่องในโอกาสวันมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันพ่อแห่งชาติ และเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน

จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้หลายพื้นที่มีสถานการณ์อุทกภัย
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยเน้นย้ำทุกหน่วยงานว่าการให้ความช่วยเหลือประชาชนถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเยียวยาในทุกมิติ

กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ 5 ธ.ค. 67

(5 ธ.ค. 67) เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ เรื่อง ฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 8 (326/2567) (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2567) บริเวณ .นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และ สตูล ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้

(5 ธ.ค. 67) เวลา 06.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)รายงานสถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และ นราธิวาส จำนวน 22 อำเภอ 161 ตำบล 1,034 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 122,482 ครัวเรือน
มีผู้เสียชีวิต 29 ราย (จ.พัทลุง 2 ราย สงขลา 10 ราย ปัตตานี 7 ราย ยะลา 5 ราย นราธิวาส 4 ราย นครศรีธรรมราช 1 ราย)

มีการจัดตั้งศูนย์พักพิง จุดอพยพในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส รวม 235 แห่ง ผู้อพยพจำนวน 28,958 คน

โรงครัว/รถประกอบอาหารในพื้นที่ประสบอุทกภัย 23 แห่ง ได้แก่ ปัตตานี 6 แห่ง สงขลา 3 แห่ง ยะลา
8 แห่ง และ นราธิวาส 6 แห่ง พร้อมสนันสนุนอาหาร 1,249,494 กล่อง น้ำดื่ม 1,151,972 ขวด และมอบถุงยังชีพจำนวน 629,520 ถุง ให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้

พักค่าธรรมเนียม-พักหนี้ 6 เดือน ช่วย SMEs ฟื้นฟูกิจการ

          รัฐบาล โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กระทรวงการคลัง เดินหน้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมถึงลดความสูญเสียให้กับผู้ประกอบการ SMEs และสถานประกอบการให้สามารถประคับประคองธุรกิจดำเนินการฟื้นฟูกิจการได้ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายแล้ว ผ่านมาตรการ ดังนี้

          1. มาตรการช่วยลูกค้า บสย. พักชำระค่าธรรมเนียมและค่าจัดการค้ำประกัน 6 เดือน สำหรับ SMEs ลูกค้า บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ปี 2567 และถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันและ
ค่าจัดการค้ำประกัน ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2567 โดยลูกค้าที่มีสิทธิเข้ามาตรการนี้มีจำนวนรวม 3,385 ราย คิดเป็นภาระค้ำประกันรวม 2,071 ล้านบาท

          2. มาตรการช่วยลูกหนี้ บสย. (ผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยให้สถาบันการเงิน) พักชำระค่างวด 6 เดือน สำหรับลูกหนี้ บสย. ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ผิดนัดชำระหนี้ ระยะเวลารับคำขอพักชำระ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2567 โดยพักชำระค่างวดที่ถึงกำหนดชำระเป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน (หลังครบระยะเวลาพักชำระ 6 เดือน ให้ผ่อนชำระตามเงื่อนไขเดิม) โดยลูกหนี้ที่มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการนี้มีจำนวนรวม 490 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 292 ล้านบาท

ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและ

รายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือช่องทาง LINE OA : @tcgfirst และ บสย. Call Center โทร. 02-890-9999

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกมาตรการช่วยเยียวยานิติบุคคคล 8 จังหวัดใต้

จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สร้างความเสียหายอย่างมากในส่วนของภาคธุรกิจ รัฐบาลได้กำชับให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการช่วยเหลือและเร่งเยียวยาภาคธุรกิจอย่างเร่งด่วน โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกมาตรการกำหนดให้นิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตประสบภัยพิบัติ
ไม่สามารถเดินทางมาดำเนินการ
จดทะเบียน หรือนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือดำเนินการอื่นใด
ต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดในช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย รวมถึงเอกสาร
สูญหาย
เสียหายจากภัยพิบัติดังกล่าว สามารถขอยืดระยะเวลาการดำเนินการตามกฎหมายได้

รายละเอียดมาตรการช่วยเหลือ            

1. นิติบุคคลผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตที่ประสบเหตุ สามารถขอขยายเวลาและชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ทำให้ไม่อาจดำเนินการยื่นจดทะเบียน ยื่นงบการเงิน ยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) รวมถึงการแจ้งบัญชีหรือเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหายที่ต้องแจ้งต่อสารวัตรบัญชี ภายในระยะเวลาที่กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมกำหนดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาขยายเวลาในการยื่นเอกสารหรือดำเนินการตามกฎหมายของ
นิติบุคคล ทั้งนี้ นิติบุคคลสามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาหรือดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สถานการณ์อุทกภัยได้สิ้นสุดลง

          2. กรณีนิติบุคคลใดได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิด กรณีไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การยื่นคำขอจดทะเบียน การแจ้งบัญชีสูญหายหรือเสียหาย การยื่นบัญชีรายชื่อ
ผู้ถือหุ้น หรือ การนำส่งงบการเงินเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประสบอุทกภัย สามารถชี้แจงเหตุผล ความจำเป็น และหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยทำให้ไม่อาจดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมกำหนดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณายุติเรื่องและไม่ออกคำสั่งปรับเป็นพินัยตามกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย (“ปรับเป็นพินัย” หมายความว่า สั่งให้ผู้กระทำความผิดต้องชำระค่าปรับไม่เกินที่กฎหมายกำหนด “ความผิดทางพินัย” หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย)

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 30 พ.ย. 2567 พบว่า 8 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วม

มีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 31,759 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 231,616.30 ล้านบาท แบ่งเป็น สงขลา 13,109 ราย ทุน 135,015.44 ล้านบาท นครศรีธรรมราช 7,329 ราย ทุน 34,401.35 ล้านบาท
ตรัง 2,950 ราย ทุน 22,374.88 ล้านบาท พัทลุง 2,117 ราย ทุน 5,637 ล้านบาท ยะลา 1,817 ราย
ทุน 11,787.44 ล้านบาท ปัตตานี 1,753 ราย ทุน 9,543.10 ล้านบาท นราธิวาส 1,743 ราย ทุน 8,415.09 ล้านบาท และสตูล 941 ราย ทุน 4,442 ล้านบาท

พณ. กำชับให้สินค้า ห้ามขาด-ห้ามแพง-ห้ามกักตุน

(4 ธ.ค. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เป็นประธานปล่อย “คาราวานถุงยังชีพช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้” ตามข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้อย่างเร่งด่วน พร้อมกำชับมาตรการสำคัญ

  • กระทรวงพาณิชย์ ดูแลสินค้าอุปโภค-บริโภค ต้องห้ามขาด ห้ามแพง เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่กำลังเดือดร้อน
  • พบมีการกักตุนสินค้าหรือพบว่าราคาแพงผิดปกติ ขอให้ประชาชนแจ้งมาที่สายด่วน 1569 กระทรวงฯ จะเร่งเข้าดำเนินการทันที
  • กระทรวงพาณิชย์เร่งเจรจาหารือกับห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทั้งห้างค้าส่ง-ค้าปลีก สำหรับการเตรียมการในช่วงหลังน้ำลดจะมีมาตรการธงฟ้าจัดจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์ซ่อมแซมที่จำเป็นในราคาถูก เพื่อลดภาระค่าครองชีพในยามวิกฤต

 “พลังงาน” ร่วมมือ “ซัสโก้” ลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาท 1 เดือน ฉลองวันพ่อแห่งชาติ ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แถลงถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน และ กลุ่มบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) โดยลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 1.00 บาท เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2568 ณ สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของ ซัสโก้ และ ไซโนเปค ทั้ง 158 แห่ง ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้ เนื่องในโอกาสวันมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันพ่อแห่งชาติ เพื่อสนองพระราชปณิธานในการสร้างประโยชน์และความสุขแก่พสกนิกรชาวไทย และเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน


แทก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส