Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

20 views

เปิดศูนย์พักพิงช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางน้ำท่วมภาคใต้


กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้ขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และเร่งให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเพิ่มเติม ในเรื่อง เงินสงเคราะห์ การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จัดตั้งโรงครัว และส่งทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดที่ประสบภัยลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มเปราะบาง หากประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และคนพิการในพื้นที่ประสบภัย ต้องการขอความช่วยเหลือเร่งด่วน สามารถติดต่อ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผ่าน สายด่วน พม. โทร. 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ โดยจัดตั้งศูนย์พักพิงเพิ่มขึ้นเป็น 491 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ยะลา 61 แห่ง นราธิวาส 114 แห่ง สงขลา 45 แห่ง และปัตตานี 252 แห่งรองรับประชาชนได้ 60,950 ราย มีผู้เข้าพัก 34,354 ราย เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ และผู้ดูแลศูนย์พักพิง จัดทำแบบประเมินออนไลน์แยกประเภทและจำนวนกลุ่มเปราะบาง และประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคติดต่อภายในศูนย์พักพิง

พม. เร่งช่วยกลุ่มเปราะบางประสบภัยน้ำท่วมใต้ โทรเรียก ศรส. ได้ที่สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชม.
(28 พ.ย. 67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ประชุมร่วมกันและเปิดวอร์รูม พูดคุยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับ พม. จังหวัดในภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา นครศรีธรรมราช ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปิดศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ณ จังหวัดสงขลา พอช่วงปลายเดือนก็เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้น ทำให้สามารถติดตามการทำงานของทีม พม. หนึ่งเดียวในจังหวัดที่ประสบภัยได้และสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มเปราะบางได้อย่างทันท่วงที
เพราะการช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ คือ ความต้องการความช่วยเหลือที่เร่งด่วน จึงได้สั่งการไปยัง พม.จังหวัดที่ประสบภัย ว่าให้เร่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และคนพิการ ในการดูแลของพม. เข้าสู่ศูนย์พักพิงต่างๆ รวมถึงความต้องการความช่วยเหลือเฉพาะหน้า อาทิ นมผงสำหรับเด็กเล็ก ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้ใหญ่ สำหรับเด็ก ของใช้ส่วนตัวต่างๆ สำหรับผู้หญิง หากพี่น้องกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ประสบภัยต้องการขอความช่วยเหลือเร่งด่วน สามารถติดต่อ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผ่าน สายด่วน พม. โทร. 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

การทำงานของกระทรวง พม. ใน 5 จังหวัดพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้
(30 พ.ย. 67) การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจาก ทีม พม.จังหวัดสงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และนครศรีธรรมราช พบว่า มีประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่รวม 2,068 ครัวเรือน จำนวน 32,927 ราย ประกอบด้วยเด็กเล็ก 2,761 ราย เด็กและเยาวชน 4,618 ราย คนพิการ 79 ราย ผู้สูงอายุ 5,511 ราย วัยแรงงาน (กลุ่มเปราะบาง) 19,958 ราย โดยได้เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว จัดตั้งโรงครัว ส่งทีม พม. หนึ่งเดียว ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนกลุ่มเปราะบาง มอบเครื่องอุปโภคบริโภค มอบชุดเครื่องนอนให้กับผู้สูงอายุ ถุงยังชีพ ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำสิทธิสวัสดิภาพ บูรณาการงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการอพยพกลุ่มเปราะบางเข้าศูนย์พักพิงและดูแลจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น จัดกิจกรรมสันทนาการสร้างความผ่อนคลาย ประสานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดให้อพยพกลุ่มเปราะบางเข้าศูนย์พักพิง ประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ในการขอรับสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภค อาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งเครื่องใช้จำเป็นในการดำรงชีพ และประสานโรงพยาบาล เพื่อลงพื้นที่ตรวจสุขภาพให้แก่กลุ่มเปราะบาง หลังจากนี้จะมีแผนฟื้นฟู คือ การติดตามและประเมินผลการช่วยเหลือ ฟื้นฟูอาชีพ การมีรายได้และมีงานทำ สนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ และปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้มั่นคง

พม. เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว รองรับกลุ่มเปราะบางน้ำท่วมใต้ ส่งทีมให้กำลังใจทุกครัวเรือน เยียวยาครอบครัวที่เสียชีวิต
(1 ธ.ค. 67) นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ตามที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) มอบหมายให้ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) มีการรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ กระทรวง พม. โดยทีม พม.หนึ่งเดียว ทั้ง 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ได้เร่งให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเพิ่มเติม อาทิ 1) เงินสงเคราะห์ 2) ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 3) จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวในหน่วยงาน ของกระทรวง พม. ได้แก่ ศูนย์พัฒนาการจัดการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณจังหวัดยะลา บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลายะลาและปัตตานี และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดยะลา ทั้งนี้ หากกลุ่มเปราะบางประสบภัยมีจำนวนมากขึ้น กระทรวง พม. ได้เตรียมแผนในการเปิดพื้นที่ของหน่วยงานเพื่อจัดตั้งศูนย์ฯ รองรับเพิ่มเติม 4) จัดตั้งโรงครัว ที่จังหวัดปัตตานีและยะลา และ 5) ทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดที่ประสบภัย
ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มเปราะบาง 6,133 ราย พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 638 ชุด และชุดเครื่องนอนสำหรับผู้สูงอายุ 10 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องบริการสิทธิสวัสดิการสังคมที่จะได้รับการช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน ได้ประสานความร่วมมือการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้แก่ 1) ร่วมกับจังหวัดในการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 196 แห่ง มีผู้อพยพ 5,150 คน โดยร่วมบริหารส่วนพักพิงชั่วคราว ดูแลกลุ่มเปราะบาง จัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น และจัดกิจกรรมสันทนาการเพื่อผ่อนคลาย 2) ร่วมกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในการอพยพกลุ่มเปราะบาง 117 ราย เข้าศูนย์พักพิงชั่วคราว 3) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จัดทำอาหารกล่อง 8,100 กล่อง 4) ร่วมขอรับการสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อาหาร และน้ำดื่ม และ 5) ประสานโรงพยาบาลในการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพกลุ่มเปราะบาง ซึ่งข้อมูลกลุ่มเปราะบาง (ระบบสมุดพกครัวเรือนอิเล็กทรอนิกส์หรือ MSO-Logbook ของกระทรวง พม.) วันที่ 30 พ.ย. 67 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 6 จังหวัด ใน 73 อำเภอ 506 ตำบล 3,510 หมู่บ้าน 551,345 ครัวเรือน ซึ่งมีกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ 2,325 ครัวเรือน 40,846 ราย ประกอบด้วยเด็กเล็ก (0-5ปี) 3,353 ราย เด็กและเยาวชน (6-25ปี) 5,360 ราย คนพิการ 79 ราย ผู้สูงอายุ 7,524 ราย วัยแรงงาน (กลุ่มเปราะบาง) 24,530 ราย

พม. เปิดศูนย์พักพิงช่วยน้ำท่วมสงขลา พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนในศูนย์พักพิง
(2 ธ.ค. 67) กระทรวง พม. และจังหวัดสงขลา เปิดศูนย์พักพิง จำนวน 11 แห่ง เร่งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม หลังมีประชาชนเดือดร้อนแล้วกว่า 321,540 ราย (139,266 ครัวเรือน) ซึ่งพื้นที่จังหวัดสงขลา มีน้ำท่วมขัง 4 อำเภอ ได้แก่ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคร ทีม พม.หนึ่งเดียวสงขลา ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาผู้ประสบอุทกภัย พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย และผู้อพยพในศูนย์พักพิง จัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อลดความตึงเครียดแก่ผู้อพยพ และจัดทำข้าวกล่องและสิ่งของจำเป็น เพื่อนำไปมอบให้ผู้ประสบอุทกภัย และศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านโคกไร่ ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา

พม.ยะลา เปิดศูนย์พักพิงอีก 3 แห่ง ผนึกกำลังเครือข่ายช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
(2 ธ.ค. 67) สถานการณ์อุทกภัยจังหวัดยะลา สร้างความเสียหายกว่า 8 อำเภอ 58 ตำบล 358 หมู่บ้าน 45 ชุมชน บ้านเรือนทรัพย์สินของประชาชน สถานศึกษาพื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์ ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ประชาชนกว่า 43,168 ครัวเรือนประสบความเดือดร้อน ต้องอพยพ 1,644 ครัวเรือน รวม 5,375 คน กระทรวง พม. ได้เปิดศูนย์พักพิง 3 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์พักพิงบ้านทักษิณ 2) ศูนย์พักพิงบ้านเด็กและครอบครัวจังหวัดยะลา และ 3) ศูนย์พักพิงไร้ที่พึ่งจังหวัดยะลา นอกจากนี้ ทีม พม. ยังดำเนินการช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น ส่งตัวผู้ป่วยติดเตียงกลับคืนครอบครัว ช่วยดูแลผู้พิการ และจัดการศพผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากอุทกภัยตามประเพณี พร้อมลงพื้นที่แจกข้าวกล่องในจุดที่ประชาชนไม่สามารถประกอบอาหารได้ พร้อมจับมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจิตอาสา 904 จัดตั้งโรงครัวพระราชทานเพื่อจัดทำข้าวกล่องแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย โดยได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

สธ.กำชับประเมินสุขภาพ “กลุ่มเปราะบาง” ในศูนย์พักพิง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคติดต่อ
(2 ธ.ค. 67) นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้ มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงเพิ่มขึ้นเป็น 491 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ยะลา 61 แห่ง นราธิวาส 114 แห่ง สงขลา 45 แห่ง และปัตตานี 252 แห่ง รองรับประชาชนได้ 60,950 ราย มีผู้เข้าพัก 34,354 ราย ได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ และผู้ดูแลศูนย์พักพิง จัดทำแบบประเมินออนไลน์แยกประเภทและจำนวนกลุ่มเปราะบาง เช่น หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และประเมินสุขภาพทุกกลุ่ม พร้อมทั้งประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เช่น ส้วม ขยะ อาหารและน้ำ เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคติดต่อภายในศูนย์พักพิง ส่วนการดูแลด้านสุขภาพ จากการคัดกรองสุขภาพจิต 6,236 ราย พบมีภาวะเครียดสูง 22 ราย ทั้งหมดได้รับการดูแลเยียวยาจิตใจแล้วและจะมีการติดตามเป็นระยะจนเข้าสู่ภาวะปกติ
“สถานการณ์ในเขตสุขภาพที่ 11 ขณะนี้เริ่มคลี่คลายแล้ว เขตสุขภาพและจังหวัดสามารถปรับการปฏิบัติการฉุกเฉินได้ โดยเน้นการดำเนินการในระยะฟื้นฟู แต่ช่วงวันที่ 3-5 ธันวาคมนี้ ยังให้เฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากอีกครั้ง โดยเฉพาะสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวมถึงเขตสุขภาพที่ 12 คือ ตรัง พัทลุง สตูล และพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วม คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เนื่องจากวันที่ 3-7 ธันวาคม 2567 เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงทางฝั่งอ่าวไทย อาจทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นได้”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส