ปัจจุบันยังมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 47 อำเภอ 349 ตำบล 2,174 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 434,438 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากภาคใต้ ในวันที่ 3-5 ธันวาคม 2567 ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัด เสริมทัพระดมเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำท่วมเพื่อรองรับฝนตกหนัก และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน สำหรับเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยหากต้องการความช่วยเหลือด้านการเกษตรสามารถติดต่อหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ได้ทันที
(2 ธ.ค. 67) เวลา 06.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 47 อำเภอ 349 ตำบล 2,174 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 434,438 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย (จ.พัทลุง 1 ราย สงขลา 8 ราย ปัตตานี 7 ราย ยะลา 4 ราย นราธิวาส 2 ราย)
มีการจัดตั้งศูนย์พักพิง จุดอพยพในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา 16 แห่ง ปัตตานี 139 แห่ง ยะลา
48 แห่ง และ นราธิวาส 96 แห่ง รวม 299 แห่ง ผู้อพยพจำนวน 22,416 คน
โรงครัว/รถประกอบอาหารในพื้นที่ ประสบอุทกภัย 20 แห่ง ได้แก่ ปัตตานี 5 แห่ง สงขลา 3 แห่ง
ยะลา 6 แห่ง และ นราธิวาส 6 แห่ง พร้อมสนันสนุน อาหาร 1,097,618 กล่อง น้ำดื่ม 931,929 ขวด และมอบถุงยังชีพ จำนวน 624,640 ถุง ให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้
(2 ธ.ค. 67) เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 2 (320/2567) ในช่วงวันที่ 3-5 ธ.ค. 67 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
(1 ธ.ค. 67) กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือ พร้อมระดมเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับฝนตกหนักภาคใต้ 3-5 ธ.ค. นี้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งได้ขนย้ายเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ จากภาคอื่นๆ ที่ไม่ประสบอุทกภัย นำมาสนับสนุนการระบายน้ำในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่กับการบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบถุงยังชีพ อาหาร น้ำดื่ม ตลอดจนสิ่งของที่จำเป็นบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด
ด้าน นายสุริยพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมชลประทาน นายฐิติกร ศรีนิติวรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณคลอง ร.4 คลอง ร.5 และคลอง ร.1 เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำเชิงรุก สั่งการให้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมรวม 12 เครื่อง บริเวณคลอง ร.1 ในพื้นที่ ต.บ้านหาร ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำตลอดแนวคลอง ร.1 ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ทำงานเชิงรุกเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
(1 ธ.ค. 67) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำระยะไกล
รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ เฮลิคอปเตอร์ป้องกันละบรรเทาสาธารณภัย KA 32 จำนวน 1 ลำ พร้อมด้วย The Guardian Team เข้าให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย โดยมีการจัดตั้งศูนย์พักพิง
จุดอพยพในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวม 213 แห่ง และโรงครัว รถประกอบอาหารในพื้นที่ประสบอุทกภัย 18 แห่ง นอกจากนี้ ได้กำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และระเบียบอื่น ๆ
(1 ธ.ค. 67) นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายวิทยา จันทร์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ไปยังสถานีสูบน้ำสนามชัย ต.สนามชัย อ.สทิงพระ จ.สงขลา เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน 4 อำเภอบนคาบสมุทรสทิงพระ ประกอบด้วย อ.ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคร โดยสภาพปัญหาหลัก คือ ทั้ง 4 อำเภอมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแอ่งกระทะ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งมีฝนตกหนัก จึงเกิดน้ำท่วมกลายเป็นพื้นที่รับน้ำเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ประกอบกับน้ำท่าที่ไหลลงทะเลสาบสงขลาระบายออกสู่อ่าวไทยได้ช้า สวน ไร่ นา ของประชาชนจึงได้รับความเสียหาย
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ทราบดีถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในคาบสมุทรสทิงพระ ได้สั่งการให้นายอำเภอกับท้องถิ่น เฝ้าระวังต่อเนื่อง ให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำสนามชัย เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้น้ำท่วมปีนี้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงอ่าวไทยได้เร็วขึ้น นาข้าว พื้นที่การเกษตรจะได้เสียหายน้อยลง และจะเปิดเครื่องสูบน้ำ 4 ตัวที่ติดตั้งไว้
เพื่อช่วยระบายน้ำให้ไวขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จุดนี้จึงกลายเป็นปราการสำคัญที่จะช่วยปกป้องประชาชนริมทะเลสาบ สามารถช่วยบรรเทาน้ำท่วมขังในพื้นที่ได้ประมาณ 6,000 หลังคาเรือน พื้นที่ประมาณ 38,000 ไร่
(1 ธ.ค. 67) นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และทีมงานสำนักช่าง เทศบาลนครยะลา ออกสำรวจเส้นทางระบายน้ำ เนื่องจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ มีเศษขยะ วัสดุ สิ่งของ ลอยมาพร้อมกระแสน้ำ อาจจะเป็นอุปสรรคของการระบายน้ำได้ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้แจ้งเตือนว่า จะมีฝนตกหนักอีกครั้งระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคมนี้ โดยมีเส้นทางระบายน้ำบริเวณใต้สะพานใกล้ปั้ม ปตท. ทางไปสวนส้ม (มัรกัส) เขตเทศบาลเมืองสะเตงนอก ซึ่งเป็นเส้นทางหลักระบายน้ำจากเขตเทศบาลเมืองสะเตงนอก เทศบาลตำบลบุดี และรางระบายน้ำหมู่บ้านเมืองทอง เขตเทศบาลนครยะลา ไหลไปลงบึงแบเมาะ มีสิ่งกีดขวางเป็นโป๊ะเหล็ก วัสดุก่อสร้าง ต้นไม้ กีดขวางใต้สะพาน จึงประสาน รถขุดตักของ อบจ. ยะลา มาดำเนินการขุดลอก ให้น้ำไหลผ่านได้สะดวกรวดเร็ว เพื่อเตรียมรับมือกับฝนที่จะตกหนักในเดือนธันวาคม ซึ่งรอบต่อไปจะเป็นวันที่ 4-5 ธันวาคม และจะมีอีกเป็นระยะ จนกว่าจะหมดช่วงฤดูฝน
(1 ธ.ค. 67) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ส่วนจังหวัด ลงพื้นที่ชุมชนยะกัง ถนนระแงะมรรคา ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย พร้อมแจกถุงยังชีพ จำนวน 700 ถุง และลงเรือกู้ภัยพบปะเกษตรกรที่อยู่ในจุดน้ำท่วมกว่า 60 ครัวเรือน ซึ่งหากต้องการความช่วยเหลือด้านการเกษตรสามารถติดต่อหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ได้ทันที