รัฐบาลระดมความช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ กรมบัญชีกลางได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการให้กับ 6 จังหวัดภาคใต้ที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพิ่มเติมแล้วจังหวัดละ 50 ล้านบาท จาก 20 ล้านบาท รวมเป็น 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับใช้ในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยและให้การปฏิบัติภารกิจดูแลพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ รวมทั้ง รมว.พลังงาน สั่งการ ปตท. เร่งส่งน้ำมันและก๊าซสู่ประชาชน และกำชับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตรวจสอบสถานการณ์เกี่ยวกับการผลิตและส่งไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้ทั่วถึงด้วย
(1 ธ.ค. 67) จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ทำให้หลายพื้นที่มีสถานการณ์อุทกภัย และอีกหลายพื้นที่มีความเสี่ยงทั้งอุทกภัยและดินโคลนถล่ม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัย วันที่ 1 ธันวาคม 2567 เวลา 06.00 น. ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่
7 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส จำนวน 78 อำเภอ 508 ตำบล 3,387 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 617,386 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 12 ราย (จ.พัทลุง 1 ราย สงขลา 5 ราย ปัตตานี 3 ราย ยะลา 1 ราย นราธิวาส 2 ราย)
มีการจัดตั้งศูนย์พังพิง จุดอพยพในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา 16 แห่ง ปัตตานี 57 แห่ง ยะลา 44 แห่ง และ นราธิวาส 96 แห่ง รวม 213 แห่ง ผู้อพยพจำนวน 13,029 คน
โรงครัว/รถประกอบอาหารในพื้นที่ประสบอุทกภัย 18 แห่ง ได้แก่ ปัตตานี 3 แห่ง สงขลา 3 แห่ง ยะลา 6 แห่ง และ นราธิวาส 6 แห่ง พร้อมสนันสนุนอาหาร 316,082 กล่อง น้ำดื่ม 443,976 ขวด และมอบถุงยังชีพจำนวน 83,047 ถุง ให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้
กรมบัญชีกลางอนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการให้กับ 6 จังหวัดภาคใต้เพิ่มเติมจังหวัดละ 50 ล้านบาท
ขณะนี้มีจังหวัดที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) แล้ว จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และชุมพร รวม 51 อำเภอ 346 ตำบล 2,163 หมู่บ้าน/ชุมชน (29 พ.ย.67) กรมบัญชีกลางได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการให้กับ 6 จังหวัดภาคใต้ที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพิ่มเติมแล้วจังหวัดละ 50 ล้านบาท จาก 20 ล้านบาท รวมเป็น 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับใช้ในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยและให้การปฏิบัติภารกิจดูแลพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้กำชับให้จังหวัดที่ได้รับการขยายวงเงินทดรองราชการฯ ใช้จ่ายงบประมาณโดยยึดระเบียบกระทรวงการคลังฯ เป็นหลัก มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ให้การช่วยเหลือสอดคล้องและเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประสบภัย
“พีระพันธุ์” สั่ง ปตท. ระดมน้ำมัน-ก๊าซเข้าพื้นที่ภาคใต้ป้องกันขาดแคลน พร้อมกำชับ กฟผ. ตรวจสอบการผลิตและส่งไฟฟ้าในพื้นที่น้ำท่วม
(30 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ หน่วยงานของภาครัฐทุกฝ่ายไม่ได้นิ่งนอนใจ กระทรวงพลังงาน ได้รับรายงานการขาดแคลนเรื่องน้ำมันและก๊าซจึงได้ประสานงานให้ ปตท. และ โออาร์ (บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)) ซึ่งรับผิดชอบงานในส่วนนี้เข้าไปประสานงานกับส่วนราชการในพื้นที่ ตอนนี้เริ่มขนส่งน้ำมันและก๊าซไปได้แล้ว แต่ต้องเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงขนส่งไปใช้ทางหลวงหมายเลข 42
ซึ่งดำเนินการได้ช้ากว่าปกติ เพราะระยะทางไกลขึ้น และถนนก็คดเคี้ยวมาก ทำให้เดินทางลำบากและไม่สามารถทำเวลาได้ตามที่เคยดำเนินการอยู่ ต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง ต้องขออภัยพี่น้องประชาชนหากเกิดความล่าช้า สำหรับในเรื่องไฟฟ้า ได้กำชับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตรวจสอบสถานการณ์เกี่ยวกับการผลิตและส่งไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ด้วย
น้ำมันเชื้อเพลิงมาถึงพื้นที่ จ.นราธิวาสแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการน้ำมันในพื้นที่ จ.นราธิวาส ล่าสุดมีรถรับ-ส่งน้ำมันเชื้องเพลิงมาถึง จ.นราธิวาส แล้วจำนวน 7 สถานีบริการน้ำมัน วันนี้ (1 ธ.ค. 67) พร้อมให้บริการได้ตามปกติ ได้แก่ 1.ปตท.บาเจาะ 2.Esso (บางจาก) หน้าสนามกีฬา
3.บางจาก สาขาแยกโสภาพิสัย 4.บางจาก สาขายะกัง 5.เชลล์ ข้างจวนผู้ว่าฯ 6.ปตท. มะนังตายอ และ
7.ปตท. ตันหยงมัส
“นฤมล” รมว.เกษตรฯ รับแนวทางนายกฯ เร่งแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภาคใต้สั่งหน่วยงานขึ้นตรงกระทรวงเกษตรตั้งศูนย์เฉพาะกิจด้านเกษตรรายจังหวัด ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือทุกมิติ
(30 พ.ย. 67) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ดำเนินการตั้ง “ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ระดับจังหวัด เป็นศูนย์ฯ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่” เพื่อดำเนินการประเมินสถานการณ์ความเสียหายด้านการเกษตร พร้อมกับให้คำแนะนำในการรับมือสถานการณ์อุทกภัย และสำรวจผลกระทบด้านการเกษตร ตลอดจนหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเบื้องต้นแล้ว ดังนี้
- กรมชลประทาน สนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่ประสบอุทกภัย ดังนี้ เครื่องสูบน้ำ 96 เครื่อง เครื่องผักดันน้ำ 7 เครื่อง รถสูบน้ำเคลื่อนที่ 3 คัน รถขุด 63 คัน เรือขุด 13 ลำ เรือกำจัดวัชพืช 2 ลำ รถแทรกเตอร์ 36 คัน รถบรรทุก 70 คัน เครื่องจักรสนับสนุน 145 หน่วย ดูแลความปลอดภัยของประชาชน 24 ชั่วโมง
- กองตรวจการประมง กรมประมง ดำเนินการช่วยเหลือ ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา โดยให้ความช่วยเหลือ เช่น จัดชุดเฉพาะกิจพร้อมเจ้าหน้าที่ 42 ชุด รถยนต์ 11 คัน เรือตรวจการประมง 7 ลำ นำส่งเสบียงอาหาร และน้ำดื่ม พร้อมทั้งอพยพประชาชน ผู้ป่วย เด็กและคนชรา ในพื้นที่ประสบภัยสู่พื้นที่ปลอดภัย
- กรมปศุสัตว์ อพยพสัตว์ 200,704 ตัว รักษาสัตว์ 140 ตัว ส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 79 ซอง ถุงยังชีพสัตว์ 73 ถุง หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 66,500 กิโลกรัม เป็นต้น
- กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ส่งเฮลิคอปเตอร์ ลำที่ 3 สมทบช่วยน้ำท่วมภาคใต้ โดยยกตัวจากสนามบินเกษตรคลองหลวง ไปรับถุงยังชีพที่สนามบินดอนเมือง เพื่อนำไปส่งยังพื้นที่น้ำท่วม จ.นราธิวาส
- จัดตั้งจุดโรงครัวเพื่อผลิตอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ประสบอุทกภัย ได้จัดตั้งจุดโรงครัวเพื่อผลิตอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ประสบอุทกภัย ได้แก่
(1) สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดยะลา อาคารส่วนขยาย ชั้น 1 ศาลากลาง จังหวัดยะลา
โทร 0-7322-1711
(2) สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส โทรศัพท์ : 0-7351-1378
(3) การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดสตูล อ.เมือง จ.สตูล โทรศัพท์ : 0-7471-1378
(4) สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองพัทลุง อ.เมือง จ.พัทลุง โทรศัพท์ : 0-7461-3193
(5) สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โทรศัพท์ : 0-7535-6254,
0-7535-6454
(6) สำนักงานเกษตรอำเภอปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี โทรศัพท์ : 0-7346-6062
(7) สถานีพัฒนาที่ดิน อ.จะนะ จ.สงขลา โทรศัพท์ : 0-7489-4300
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เร่งระดมกำลังลงพื้นที่จังหวัดยะลา มีอีกหลายพื้นที่
อยู่ในภาวะลำบาก
พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะผู้อำนวยการจิตอาสาพระราชทานภาค 4 ได้สั่งระดมกำลังพล ยานพาหนะ และยุทโธปกรณ์ เครื่องมือที่มีทุกอย่างที่มี
เข้าช่วยเหลือ สั่งตั้งรถครัวสนามทำอาหารแจกจ่ายสนับสนุนในพื้นที่ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน แม้ในวันนี้หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำลดลง แต่พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงลำบากเรื่องอาหารการกิน การหุงหาอาหาร เนื่องจาก ได้ถูกมวลน้ำพัดทำให้ข้าวของเครื่องใช้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย
แห่งนี้ จึงเป็นศูนย์รวมในการทำข้าวกล่อง เพื่อจะนำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนยังพื้นที่ต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองยะลาที่ยังคงวิกฤติ
กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 152 ได้ลงเรือบรรทุกข้าวกล่องและน้ำดื่มไปยังชุมชนหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ที่ยังคงมีปริมาณน้ำในระดับที่สูง และยากต่อการเดินเข้าออก พบว่ายังมีประชาชนที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือ และได้รับความเดือดร้อนกว่า 100 ครัวเรือน และได้มอบถุงยังชีพเยี่ยมให้กำลังใจ
พี่น้องประชาชน ที่พักยังศูนย์พักพิงในพื้นที่
แม่ทัพภาคที่ 4 เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ กำลังพล ที่ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตั้งแต่วันแรก จนถึงวันนี้ ทุกคนเหน็ดเหนื่อยกันทุกส่วน ด้วยพลังและน้ำใจที่มี จึงทำอย่างสุดความสามารถ ขอขอบคุณ และขอส่งกำลังใจไปถึงทุกส่วนด้วย