กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รายงาน
ความคืบหน้าการติดตามการแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบ “Thailand Zero Dropout” ในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ มีเด็กวัยเรียนกลับเข้าสู่ระบบแล้ว 4 แสนกว่าคน โดยในส่วนของ สพฐ. มีเด็กกลับเข้าระบบแล้ว 120,000 กว่าคน พร้อม Kick off นโยบาย “OBEC Zero Dropout” ภายใต้ชื่อโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” ระดับจังหวัด พร้อมลงนาม MOU กับ 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ศธ. เตรียมส่งของขวัญปีใหม่ชิ้นแรก “กล่องความรู้ สู่ความสุข” ม.6 หยุดเรียนติว TGAT/TPAT ออนไลน์ ทั่วประเทศไม่มีค่าใช้จ่าย ในวันที่ 2 – 6 ธันวาคมนี้
รัฐบาลเดินหน้ามาตรการ “Thailand Zero Dropout” แก้ปัญหา “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา” ให้เป็นศูนย์ โดยตั้งเป้าในการดึงเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษากลับเข้าระบบจำนวน 1,000,000 คน เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มปฏิบัติการค้นหาช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยขับเคลื่อนผ่าน 4 มาตรการสำคัญ ดังนี้
- มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
- มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
- มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็ก
- มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชน ให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้
Kick off โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ระดับจังหวัด
(25 พ.ย. 67) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Kick off กรุงเทพเป็นหนึ่ง “พาน้องกลับมาเรียน นําการเรียนไปให้น้อง”
(OBEC Zero Dropout) ระดับจังหวัดกรุงเทพมหานคร และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร และ 7 หน่วยงาน ได้แก่ สํานักงานศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สํานักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจํากรุงเทพมหานคร สํานักงานอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร และกรมกิจการเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ได้ดำเนินการใน 3 มิติ คือ “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ” ตามแนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
• ป้องกัน หาสาเหตุและนำมาวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา
• แก้ไข โดยพาน้องกลับมาเรียน และนำการเรียนไปให้น้อง เข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น
• ส่งต่อ บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อช่วยเหลือนักเรียนรายบุคคล ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น กรณีย้ายถิ่นฐานตามผู้ปกครอง
สพฐ. เผยความคืบหน้าภาพรวม Thailand Zero Dropout ดึงเด็กเข้าระบบได้แล้ว 4 แสนคน
สำหรับผลการติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบ “Thailand Zero Dropout” ในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ มีเด็กกลับเข้าสู่ระบบแล้ว 4 แสนกว่าคน ในส่วนของ สพฐ. มีเด็กกลับเข้าระบบแล้ว 120,000 กว่าคน ซึ่งเป็นผลจากการที่เราทำงานเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง โดย สพฐ.
จะติดตามค้นหาพาเด็กกลับมาเรียน และหากเด็กไม่กลับมาก็จะนำการเรียนไปให้ถึงที่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน ก็จะจัดสื่อการเรียนรู้และครูเข้าไปให้บริการที่โรงพยาบาลหรือที่บ้าน เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าวางระบบรวมฐานข้อมูล Zero Dropout ไว้ที่จุดเดียว เพื่อให้สะดวกต่อการค้นหาผู้เรียนหลุดจากระบบการศึกษา โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน รมว.ศธ. ได้กล่าวถึงระบบฐานข้อมูล “Thailand Zero Dropout” ว่า ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพหลักดูแลเรื่องระบบฐานข้อมูลติดตามเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาผ่าน https://exchang.moe.go.th ที่มีการอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่ง สพฐ. ได้จัดทำโครงการ Kick off “พาน้องกลับมาเรียน นําการเรียนไปให้น้อง” ในหลายพื้นที่ ขณะที่ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)
ได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาจริงในพื้นที่ ซึ่งเห็นรูปแบบในการแก้ไข เพราะพบเจอเด็กหลายกลุ่มที่อยู่นอกระบบ
ทำให้รู้ว่าจะช่วยเหลืออย่างไรให้เด็กอยากกลับมาเรียน
ทั้งนี้ ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2567 จะได้ข้อสรุปถึงโมเดลการขับเคลื่อนและระเบียบข้อกฎหมาย
ในการดำเนินงาน และเมื่อส่วนกลางทำระบบเรียบร้อยแล้วก็จะขยายออกไปถึงหน่วยงานอื่น เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศธ. เตรียมส่ง “กล่องความรู้ สู่ความสุข” ม.6 หยุดเรียนติว TGAT/TPAT ออนไลน์ทั่วประเทศ
(27 พ.ย. 67) พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 41/2567 โดยในที่ประชุมได้หารือเตรียมแถลงข่าวมอบของขวัญปีใหม่ให้ครูและนักเรียน ซึ่งของขวัญชิ้นแรกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสอนเสริม “กล่องความรู้ สู่ความสุข” ติวออนไลน์ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
หยุดเรียนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 2 – 6 ธันวาคม 2567 โดยสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยครูผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ผ่านช่องทาง YouTube และ Facebook ของ OBEC Channel เพื่อเตรียมตัวสอบความถนัดทั่วไป (TGAT) และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (TPAT) ที่จะจัดสอบขึ้นในวันที่ 7 – 9 ธันวาคม 2567 นี้ ซึ่งอนุญาตให้ผู้เรียนสามารถเสริมความรู้ที่บ้าน โดยถือว่าเป็นเวลาเรียนปกติ และหากสถานศึกษาใดมีความพร้อมสามารถจัดติวที่โรงเรียนได้เช่นกัน โดยมีมาตรการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมีคุณภาพ