Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

28 views

ไทย-สิงคโปร์ กระชับความสัมพันธ์และผลักดันการลงทุน วาระพิเศษครบ 60 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ปี 68


นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับนายลอเรนซ์ หว่อง (H.E. Mr. Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เดินหน้าความร่วมมือไทย-สิงคโปร์อย่างรอบด้าน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ผลักดันความร่วมมือในสาขาใหม่ที่มีศักยภาพร่วมกัน อาหาร พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการเชื่อมโยงด้านดิจิทัล นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อยกระดับและสร้างทักษะใหม่ (upskilling – reskilling) ให้แก่แรงงาน และการลงนาม MOU โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการไทย-สิงคโปร์ และในปี 2568
ครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สิงคโปร์ จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือให้ครอบคลุมมากขึ้นในหลากหลายมิติ

(28 พ.ย. 67) เวลา 10.30 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับนายลอเรนซ์ หว่อง (H.E. Mr. Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) โดยนายกรัฐมนตรีไทยและสิงคโปร์ได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ไปยังห้องสีม่วง เพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรี แล้วจึงเชิญนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน ก่อนทั้งสองฝ่ายร่วมหารือเต็มคณะ มีสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และคณะ ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการเยือนระดับผู้นำอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่ง และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน
ในปี 2568 โดยสิงคโปร์เป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่ดีของไทยมาอย่างยาวนาน มีความร่วมมือระหว่างกัน
ที่แข็งแกร่ง โดยนายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มาแล้วในหลายโอกาส ได้แก่ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และการหารืออย่าง
ไม่เป็นทางการในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ สาธารณรัฐเปรู และในครั้งนี้เป็นโอกาสให้พูดคุยเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันในเชิงลึกมากขึ้น
​นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ยินดีที่ได้พบหารือร่วมกันอีกครั้ง และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นแขกคนแรกของนายกรัฐมนตรี โดยการต้อนรับสมบูรณ์แบบมาก พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ที่มีความใกล้ชิดมาอย่างยาวนาน โดยทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่ใกล้ชิด รวมถึงมีความร่วมมือระหว่างกันที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้านความมั่นคง การเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ซึ่งการหารือในวันนี้จะเป็นโอกาสในการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือในสาขาใหม่ ได้แก่ อาหาร พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการเชื่อมโยงด้านดิจิทัล เพื่อเดินหน้าความสัมพันธ์ระหว่างกันในโอกาสครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สิงคโปร์

ร่วมเปิดศักราชความสัมพันธ์ 60 ปี ไทย-สิงคโปร์
​โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ได้แก่
​1) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับสูงที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูง โดยเฉพาะในปี 2568 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทย-สิงคโปร์ โดยนายกรัฐมนตรียินดีเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ในปี 2568 พร้อมส่งความปรารถนาดีถึงประธานาธิบดีสิงคโปร์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ให้การต้อนรับในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการเช่นกัน ด้านนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์พร้อมให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือที่ได้หารือร่วมกันในวันนี้
​2) ความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน

  • ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและสิงคโปร์มีความร่วมมือในการฝึกอบรมและการฝึกซ้อมร่วมทางทหารระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง และเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันให้ครอบคลุมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์
  • ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสิงคโปร์เข้มแข็งมาก โดยเฉพาะการค้าและการลงทุน ซึ่งสิงคโปร์มีการลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก และภาคเอกชนสิงคโปร์เชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะเทคโนโลยีสีเขียว เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS)) ยานยนต์ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ตลอดจนความร่วมมือด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
  • ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมผลักดันการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ
    ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างไทยและสิงคโปร์ฉบับใหม่ ซึ่งจะสนับสนุนความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ การหลอกลวงทางออนไลน์ และด้านอื่น ๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ซึ่งไทยในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจากรอบความตกลงฯ ตั้งเป้าหมายให้การเจรจาสามารถสรุปผลได้ภายในปี 2568 ด้านนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์พร้อมให้การสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ พร้อมกล่าวถึงความร่วมมือในการเชื่อมโยง Digital Payment ระหว่าง PayNow ของสิงคโปร์ กับพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย ถือเป็นนวัตกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศแบบทันทีคู่แรกของโลก (The world’s first real-time payment linkage) และพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น
  • ด้านความมั่นคงทางอาหาร เป็นประเด็นที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และต้องการมีความร่วมมือกับไทยมากขึ้น โดยไทยยินดีสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของสิงคโปร์ โดยเฉพาะการเพิ่มการส่งออกข้าวคุณภาพ (premium rice) และไข่ออร์แกนิคไปยังสิงคโปร์ พร้อมยืนยันว่า ไทยมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและ
    มีกำลังการผลิตที่เพียงพอ รวมถึงสินค้าของไทยมีการควบคุมคุณภาพเป็นอย่างดี
  • ด้านความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงด้านพลังงานและการซื้อขายพลังงานพหุภาคีในอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ต้องการผลักดันการจัดทำความตกลงการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีข้ามพรมแดน (Lao PDR-Thailand-Malaysia-Singapore Power Integration Project: LTMS:PIP) ซึ่งจะสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน
  • ด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไทยต้องการเพิ่มความร่วมมือกับสิงคโปร์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแรงงานสำหรับอนาคต ผ่านการศึกษา การวิจัย และการฝึกอาชีพ เพื่อยกระดับและสร้างทักษะใหม่ (upskilling – reskilling) ให้แก่แรงงาน พร้อมยินดีต่อความร่วมมือระหว่างกันภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษา ซึ่งลงนามร่วมกันในวันนี้ (28 พ.ย. 67) โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าวถือเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญ ประการหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการไทย-สิงคโปร์
    (Civil Service Exchange Programme: CSEP) ครั้งที่ 14 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
  • ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและสิงคโปร์มีการแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันเป็นจำนวนมาก และพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญ ตลอดจนผลักดันให้ไทยและสิงคโปร์เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดของภูมิภาค นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมกันส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน เช่น ภาพยนตร์ไทย เพลง T-Pop และมวยไทย ซึ่งเป็น Soft Power ของไทยที่กำลังได้รับความนิยมในสิงคโปร์ในขณะนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมผลักดันการใช้ Soft Power
    เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ในระดับประชาชนระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
    ​3) การประสานงานเชิงกลยุทธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในประเด็นระดับภูมิภาค ไทยและสิงคโปร์พร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ห่วงโซ่คุณค่า และการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจภายในอาเซียนมากขึ้น รวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่าการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่กรุงเทพฯ ในเดือนหน้านี้ จะเป็นโอกาสในการหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติสำหรับอาเซียนด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส