นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นบริการที่ สปสช. ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะโรคที่สามารถป้องกันได้ อย่างโรคมะเร็งปากมดลูก ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
มีมติรับทราบความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ชนิด 9 สายพันธุ์ เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับเด็กหญิง ป.5 โดยจะทยอยส่งมอบวัคซีนฯ ให้ครบ 773,500 โดส ในปีนี้ และกำหนดเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ชนิด 9 สายพันธุ์ ให้กับเด็กหญิง ป. 5 ในเดือนธันวาคม 2567 จ.ปทุมธานี เป็นที่แรก และขยายไปทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2568 นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 อีกด้วย
(25 พ.ย. 67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นบริการที่ สปสช. ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะโรคที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงมีสิทธิประโยชน์บริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV Vaccine) มาอย่างต่อเนื่องตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อฉีดให้กับเด็กหญิงชั้นประถมปีที่ 5 (ป.5) และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 67 ได้มีมติรับทราบ “ความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ชนิด 9 สายพันธุ์ เพื่อบริหารจัดการเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับเด็กหญิง ป.5 ปีการศึกษา 2567” นำเสนอโดย นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับการดำเนินการภายหลังจากที่สำนักงานฯ ได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 67 ให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ชนิด 9 สายพันธุ์บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยประสานแจ้งแผนความต้องการวัคซีนไปยังเครือข่ายหน่วยบริการด้านยาฯ โรงพยาบาลราชวิถี และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อดำเนินการจัดหาวัคซีน
เหตุใดต้องฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กนักเรียน ชั้น ป.5
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลทางสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus (ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)) ว่า โรคมะเร็งปากมดลูกกว่า
ร้อยละ 80 สาเหตุมาจากเชื้อเอชพีวี ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ 16 และ 18 โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน
จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อประมาณร้อยละ 60 หากฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่เด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งก็คือช่วงอายุ 11 – 12 ปี เพราะมีข้อมูลวิชาการและองค์การอนามัยโลกระบุชัดว่าหากฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้จะป้องกันโรคได้อย่างประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบกับการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนเป็นเรื่องง่าย สามารถเข้าไปฉีดได้ที่โรงเรียนได้ อีกทั้งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงประมาณ 5,000 คนต่อปี
อภ. มีแผนส่งมอบวัคซีนฯ 3 ระยะ ตั้งเป้าครบ 773,500 โดส ในปีนี้
องค์การเภสัชกรรม มีแผนในการส่งมอบวัคซีน 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ส่งมอบวัคซีน 1 แสนโดส
ในวันที่ 22 พ.ย. 67 และจะทำการตรวจคุณภาพและมาตรฐาน ระยะที่ 2 ส่งมอบวัคซีน 3 แสนโดส ภายในวันที่ 15 ธ.ค. 67 และระยะที่ 3 ส่งมอบวัคซีน 373,500 โดส ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 รวมทั้งหมดจะได้รับวัคซีน 773,500 โดส ที่พร้อมฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทำการสำรวจกลุ่มเป้าหมายเด็กหญิง ป.5 ร่วมกับกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งขณะนี้ดำเนินการใกล้เสร็จสิ้น หลังจากนั้น
กรมควบคุมโรคจะจัดทำแผนกระจายวัคซีน และแนวทางการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ และจะมีการคิกออฟเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ชนิด 9 สายพันธุ์ ให้ได้ก่อนสิ้นเดือนธันวาคม 2567 และตามแผนจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2568
รัฐบาลขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมสุขภาพอย่างคลอบคลุม สปส. เพิ่มสิทธิ ล้างไตทางช่องท้องด้วย
เครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD)
(24 พ.ย. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมสุขภาพอย่างคลอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ให้สิทธิประโยชน์ สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ในระบบประกันสังคมที่ป่วย สามารถล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis : APD) ได้ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติแม้เวลากลางคืน
ขณะหลับ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
- ค่าวางท่อสำหรับการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติโดยจ่ายค่าวางท่อ รับส่งน้ำยา
เข้า-ออกช่องท้อง พร้อมอุปกรณ์ให้แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลไม่เกิน 20,000 บาท/ราย/2 ปี - ค่าบริการสำหรับบริการทำ APD โดยจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์จากการบำบัดทดแทนไต กรณีการล้างช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติแก่สถานพยาบาลที่ให้การรักษา ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการล้างช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติโดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย
ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 32,700 บาท/เดือน ครอบคลุมค่าตรวจรักษา ค่าเครื่องล้างไตอัตโนมัติค่าน้ำยาและอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วม พร้อมมีเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลไปติดตั้งที่บ้าน ผู้ป่วยเพื่อให้พร้อมใช้งาน ค่าซ่อมหรือเปลี่ยนเครื่องเมื่อมีปัญหา ค่าสอนผู้ป่วยและญาติโดยพยาบาล รวมถึงมีบริการ Call Center ตลอด 24 ชั่วโมง