Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

12 views

รัฐบาลรณรงค์หยุดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในครอบครัว พม. ขานรับ “ให้ทุกเสียงมีพลัง ยุติความรุนแรงด้วยความเท่าเทียม”


มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” โดยรัฐบาลกำหนดจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว ภายใต้แนวคิด “สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” (ACT NOW to end Violence against Women and Girls) ด้วยการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร 5 ข้อเสนอ 5 มาตรการ จัดตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) เปิดสายด่วน พม. 1300 หากพบเห็นหรือถูกกระทำความรุนแรง โทรฟรี 24 ชม. หรือผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ESS Help Me รวมทั้งติดต่อศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวทั้ง 77 จังหวัด

(25 พ.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2567 เพราะสถาบันครอบครัว คือ หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะครอบครัวอบอุ่นคือเกราะป้องกันให้กับทุกคน ที่จะสร้างความเข้มแข็ง ความรู้สึกปลอดภัยและความรู้สึกมั่นคง ทำให้เมื่อเราเจอปัญหาก็พร้อมจะลุกขึ้นใหม่ และเดินหน้าต่อไปได้ ในปัจจุบันความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งรูปแบบทางกายและทางใจ มีสาเหตุสำคัญมาจากค่านิยมในสังคมที่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของคนในครอบครัวไม่ใช่เรื่องของคนในสังคม
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสังคมมีส่วนสำคัญมากในการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

รัฐบาลจัดกิจกรรม “สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง”
ในปี 2567 นี้ รัฐบาลกำหนดจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ภายใต้แนวคิด “สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” (ACT NOW to end Violence against Women and Girls) มุ่งหวังให้ทุกคนเข้าใจความรุนแรงในครอบครัว พร้อมใช้ความรัก ความเห็นใจ ความเอื้ออาทร และใช้ความรู้ในสิทธิทางกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองทั้งตัวเอง สมาชิกในครอบครัว และคนในสังคมที่กำลังประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
​นายกรัฐมนตรีขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนทุกคน มาร่วมแสดงพลังในการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบด้วยการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อให้ทุกคนในสังคมดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข และหากประชาชนที่กำลังประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวสามารถขอความช่วยเหลือหรือหากพบเห็นการใช้ความรุนแรงต่อคนในครอบครัวทุกรูปแบบ ขออย่าเพิกเฉย ติดต่อสายด่วน 1300 หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อร่วมกันยุติความรุนแรงในครอบครัวทุกรูปแบบ

พม. ย้ำให้ทุกเสียงมีพลัง ยุติความรุนแรงด้วยความเท่าเทียม
​นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ประจำปี 2567 “ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน : ผลกระทบความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในสังคมไทย” “ให้ทุกเสียงมีพลัง ยุติความรุนแรงด้วยความเท่าเทียม” ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อเด็ก สตรี หรือความรุนแรงในครอบครัว ยังคงมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ในปี 2567 พบผู้ถูกกระทำความรุนแรง เฉลี่ยวันละ 42 ราย เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 8 รายต่อวัน
จากข้อมูลศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. สายด่วน พม. 1300 พบว่า
• มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 4,833 ราย ส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว จำนวน 3,421 ราย (71%) และภายนอกครอบครัว จำนวน 1,412 ราย (29%) ความรุนแรงที่พบ อันดับหนึ่ง คือ ถูกทำร้ายร่างกาย 3,532 ราย (73.08%) รองลงมา คือ
ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 814 ราย (16.84%)
• สาเหตุหรือปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง อันดับหนึ่ง คือ ยาเสพติด รองลงมาคือ บันดาลโทสะ ปัญหาสุขภาพจิต หรือความเครียดทางเศรษฐกิจ

ผลักดันทุกมาตรการปกป้อง-ขจัดปัญหาความรุนแรง
กระทรวง พม. ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลโดยให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประเด็นปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) และมีความพยายามผลักดันนโยบายและมาตรการหลายด้าน เพื่อปกป้อง คุ้มครอง คนทุกเพศ ทุกวัย และขจัดปัญหาความรุนแรงในทุกรูปแบบ
• การผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร จากความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยผ่านการเห็นชอบของ ครม. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ 5 มาตรการ ได้แก่ 1. เสริมพลังผู้สูงอายุ 2. เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3. สร้างพลังผู้สูงอายุ 4. เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5. สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัย เสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั่วถึง เป็นธรรม
• มีศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ โดยเริ่มตั้งแต่การรับแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือหากเกิดความรุนแรงในครอบครัว การเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
การวางแผน การดำเนินงานช่วยเหลือ ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือคุ้มครอง
โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
• พฤศจิกายนเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว กระทรวง พม.
ในฐานะหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนภารกิจด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนัก
ต่อสังคม เพื่อรับมือกับปัญหาและขอรับความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุขึ้น

ช่องทางติดต่อแจ้งความรุนแรง-ขอความช่วยเหลือ
o การสร้างระบบ Family Line “เพื่อนครอบครัว” ผ่าน Application Line และเว็บไซต์เพื่อนครอบครัว เพื่อเป็นพื้นที่ให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้องค์ความรู้แก่สมาชิกครอบครัว การสื่อสารสังคมเชิงรุก
o การร่วมลงนาม MOU และประกาศเจตนารมณ์ระหว่างภาคีเครือข่ายและสมาคมกีฬานําร่อง รวมกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ
o ช่องทางการติดต่อขอรับความช่วยเหลือกรณีถูกกระทำความรุนแรง หรือพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว
▪ หากพบเห็นหรือถูกกระทำความรุนแรงขออย่านิ่งเฉย สามารถแจ้งมาได้ที่ ศรส. โทร 1300 โทรฟรี 24 ชม.
▪ ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ESS Help Me ผ่านแอปพลิเคชันไลน์แจ้งเหตุเชื่อมโยงกับสถานีตำรวจตลอด 24 ชม.
▪ ติดต่อศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวทั้ง 77 จังหวัด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส