Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

2992 views

โครงการสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (ปชช.รายย่อย) – สินเชื่อซอฟต์โลน 1 แสนล้านของธนาคารออมสิน


.

ครม. มีมติเห็นชอบการแยกบัญชีโครงการให้สินเชื่อตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนรายย่อย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสินเป็น *บัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

.

บัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ หมายถึง บัญชีที่จัดทําขึ้นเพื่อบันทึกผลการดําเนินโครงการตามนโยบายของรัฐที่ดําเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยการบันทึกบัญชีจะแยกออกจากบัญชีการดําเนินธุรกรรมตามปกติของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งนี้ หากเกิดความเสียหายจากการดําเนินโครงการตามนโยบายของรัฐ ผลการดําเนินโครงการจะไม่ถูกนําไปรวมกับผลการดําเนินการตามปกติของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

.

ออมสินออก 2 โครงการ กระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนรายย่อย

.

จากรายงานของกระทรวงการคลัง พบว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สวนทางกับต้นทุนการผลิต และระดับราคาสินค้าทั่วไปที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนในการประกอบอาชีพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้กำไรลดลงและประสบกับปัญหาด้านสภาพคล่อง ดังนั้น เพื่อแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว ธนาคารออมสินจึงได้ดำเนินโครงการให้สินเชื่อตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนรายย่อย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up (เป็นโครงการที่ธนาคารออมสินดำเนินการเองโดยไม่ได้ของบประมาณจัดสรรเพิ่มเติม)

โครงการให้สินเชื่อตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนรายย่อย มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

1. กลุ่มสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำภาคอสังหาริมทรัพย์ (4 มาตรการ) ประกอบด้วย

1.1 สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ประกอบธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้สร้างโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท (2 มาตรการ)

•    สินเชื่อ GSB D – Home กระตุ้นเศรษฐกิจ: อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 4 ปี

•    สินเชื่อ GSB D – Home สร้างบ้านเพื่อคนไทย: อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.5 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 4 ปี

1.2 สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มประชาชนรายย่อยที่ต้องการซื้อหรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและลดความเหลื่อมล้ำของการมีที่พักอาศัยเป็นของตนเอง วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท (2 มาตรการ)

•    สินเชื่อบ้านออมสินเพื่อคนไทย เพื่อซื้อ/ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย: อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 1.95 ต่อปี วงเงินกู้ไม่เกิน 7 ล้านบาท

•    สินเชื่อ Top Up เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งบ้าน หรือสิ่งจำเป็นอื่นในการเข้าอาศัย: อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.49 ต่อปี

2. กลุ่มสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อบรรเทาผลกระทบและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยการ Refinance สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูงในตลาด มาใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน ภายใต้โครงการ “สินเชื่อ

รีไฟแนนซ์เพื่อสังคม” 4 มาตรการ ประกอบด้วย

2.1    สินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับกลุ่มลูกค้าฐานราก (2 มาตรการ)

•    สินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Re – Nano) เพื่อชำระหนี้สินเชื่อ *Nano Finance ที่กู้ไปเพื่อลงทุนประกอบอาชีพ: อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี (จากเดิมสูงสุดร้อยละ 33 ต่อปี) วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 8 ปี โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อยค้ำประกันสินเชื่อ

* Nano Finance มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ เป็นสินเชื่อที่ภาครัฐต้องการให้การสนับสนุน เนื่องจากเห็นปัญหาของประชาชนรายย่อยที่ต้องการใช้เงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานที่ใช้แสดงแหล่งที่มาของรายได้ และไม่มีทรัพย์สินที่จะนำมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน เช่น พ่อค้า แม่ค้า หรือผู้ที่ประกอบอาชีพเสริม

•    สินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อส่วนบุคคล (*Re P – loan) เพื่อชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (P – loan) ของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non – Bank): อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี (จากเดิมสูงสุดร้อยละ 25 ต่อปี) วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี

* Re P – loan (Personal Loan) คือ สินเชื่ออเนกประสงค์ในรูปแบบที่เป็นเงินก้อนพร้อมใช้ ให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดา ที่มีเอกสารแสดงรายได้ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็ตาม โดยไม่ต้องมีทรัพย์สินเข้ามาเป็นหลักประกัน หรือบุคคลค้ำประกัน

2.1    สินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยบุคคล (2 มาตรการ)

•    สินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อบัตรเครดิต (Re – Card) เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตของสถาบันบการเงิน หรือ Non – Bank มาผ่อนชำระในรูปแบบเงินกู้ระยะยาว: อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 8.99 ต่อปี (จากเดิมสูงสุดร้อยละ 16 ต่อปี) วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 7 ปี

•    สินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Re – Home) เพื่อไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่น: อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ร้อยละ 1.95 ต่อปี (จากเดิมร้อยละ 6 – 7 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 40 ปี

.

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

วัตถุประสงค์: เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในด้านการลงทุนและเสริมสภาพคล่อง

วิธีดำเนินงาน:

•    ธนาคารออมสินสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 100,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี

•    สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท (รวมทุกสถาบันการเงิน) ทั้งนี้ ภายใต้วงเงินดังกล่าวธนาคารออมสินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยตรงในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ

.

ระยะเวลาดำเนินงาน: ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อรวมในโครงการจะหมด (แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน) โดยให้เบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2569 ขอความร่วมมือ ธปท. ตรวจสอบ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ

.

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์โครงการ จึงเห็นควรขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมสอบทานกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ และสุ่มทานสินเชื่อรายลูกหนี้ในโครงการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ พร้อมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลการสอบทานดังกล่าว แยกจากธุรกรรมสินเชื่อประเภทอื่น ๆ เป็นประจำทุกไตรมาสและรวบรวมรายงานดังกล่าวไว้สำหรับการเข้าตรวจสอบสถาบันการเงินประจำปีของ ธปท. และ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการกํากับดูแล การตรวจสอบและการประเมินผล การดําเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการทําหน้าที่เป็นกลไกของรัฐเพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น กระทรวงการคลัง จึงเห็นควรเสนอการแยกบัญชีโครงการให้สินเชื่อของธนาคารออมสินที่กล่าวมาข้างต้นเป็นบัญชี PSA


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส