นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ตู้สินค้าภายในเรือ KMTC HONGKONG บริเวณท่าเทียบเรือบริษัท ไทยแหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ในพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ตำบลสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทำให้เกิดกลุ่มควันจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างมาก
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562เวลา 06.45 น. ได้เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ตู้สินค้าภายในเรือ KMTC HONGKONG ซึ่งเป็นเรือสัญชาติเกาหลีใต้ บรรทุกตู้สินค้าเพื่อมาส่งที่ท่าเทียบเรือ A2 ของบริษัท ไทยแหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ภายในพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ตำบลสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดกลุ่มควันจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างมาก
กรมควบคุมมลพิษ ขอชี้แจงว่า กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับสำนักงานทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี กรมเจ้าท่า กองทัพเรือภาคที่ 1 ศูนย์อำนวยการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 อำเภอศรีราชา เทศบาลนครแหลมฉบัง กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 25 – 30 พฤษภาคม 2562 โดยมีการดำเนินงานแก้ไขปัญหา ดังนี้
1. ขณะเกิดเหตุวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ พร้อมทีมดับเพลิงจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เข้าร่วมระงับเหตุเพลิงไหม้ โดยฉีดน้ำและโฟมตู้สินค้าบนเรือ แต่เนื่องจากตู้สินค้าบนเรือมีสารเคมีและวัตถุอันตราย ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง และกลุ่มควันจากเหตุเพลิงไหม้ทำให้มีไอระเหยสารเคมีที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ จังหวัดชลบุรีจึงได้ประกาศให้พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบังเป็นพื้นที่อันตราย และได้ประกาศให้อพยพประชนชนที่อยู่ใต้ลมไปยังจุดที่ปลอดภัย ต่อมาท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบังสามารถควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวเข้าสู่ภาวะปกติ และได้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินในเวลา 24.00 น. ส่วนสาเหตุของการระเบิดและเพลิงไหม้ตู้สินค้าภายในเรือ KMTC HONGKONG อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของพิสูจน์หลักฐานจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้เข้ามาเก็บหลักฐานบางส่วน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562
2. ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ได้รายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 25 – 27 พฤษภาคม 2562 รวม 228 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดชลบุรีได้ติดตามสถานการณ์ผลกระทบด้านสุขภาพประชาชนและดูแลประชาชนทั้งด้านการรักษาผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี จัดทีมคัดกรองสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีราชาและโรงพยาบาลแหลมฉบัง จัดทีมหน่วยปฐมพยาบาลและหน่วยสุขภาพจิตเคลื่อนที่ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ ส่วนใหญ่พบว่า มีอาการระคายเคืองผิวหนัง แสบคอ แสบตา และตระหนก หวาดกลัว
ทั้งนี้ ท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบังได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุผู้ประสบภัย ที่เทศบาลนครแหลมฉบัง เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
3. กรมควบคุมมลพิษ ทำการตรวจวัดมลพิษทางอากาศเบื้องต้น ดังนี้
3.1 พื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ บริเวณท่าเทียบเรือ A2 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 พบสารอินทรีย์ระเหยง่ายรวม (VOCs) อยู่ในช่วง 1.2 – 2.4 ppm.สาร Formaldehyde อยู่ในช่วง 0.92 – 1.96 ppm ซึ่งสาร Formaldehyde ที่ตรวจพบมีค่าเกินกว่าค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน ระดับ 1 ซึ่งจะต้องมีค่าไม่เกิน 0.9 ppm โดยตรวจวัดด้วยเครื่อง Multiple Gas Detector จึงได้แนะนำให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานควบคุมเพลิงไหม้สวมใส่หน้ากากป้องกันไอระเหยจากสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ ได้ติดตามตรวจวัดและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในพื้นที่จุดเกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤษภาคม 2562 ตรวจพบสาร VOCs และ สาร Formaldehyde ปริมาณเล็กน้อย ตรวจไม่พบก๊าซคลอรีน
3.2 บริเวณชุมชนภายนอกจุดเกิดเหตุจำนวน 3 จุด เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ประกอบด้วย จุดรวมพลวัดบ้านนา, ชุมชนบ้านนา และชุมชนแหลมฉบัง พบว่า มีค่าสารVOCs และ สาร Formaldehyde เล็กน้อย ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ ได้ติดตามตรวจวัดและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤษภาคม 2562 ตรวจไม่พบสาร VOCs สาร Formaldehyde และก๊าซคลอรีน ซึ่งปัจจุบันสภาพอากาศบริเวณชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกลับสู่ภาวะปกติแล้ว
4.กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลตะวันออก/กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 โดยตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้น พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำทะเล จำนวน 2 จุด ส่งให้ห้องปฏิบัติการกรมควบคุมมลพิษทำการวิเคราะห์สารโลหะหนัก และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี และท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำทะเลโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 6 จุด โดยเก็บตัวอย่างน้ำวิเคราะห์พารามิเตอร์กลุ่มโลหะหนัก Residue Chlorine และปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH) ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายใน 2 สัปดาห์
5. จากการตรวจสอบในเบื้องต้น สาร Calcium Hypochlorite ที่เป็นสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 13 ตู้ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุของเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ มีลักษณะเป็นของแข็งสีขาว เป็นเม็ดเล็กๆ มีกลิ่นของคลอรีน เป็นสารออกซิไดซ์เซอร์ ละลายน้ำแล้วจะมีสภาพเป็นด่าง (pH 10.4-10.8) เมื่อเกิดการเผาไหม้จะปลดปล่อยก๊าซคลอรีนหรือไอกรดไฮโดรคลอริก
6. น้ำเสียจากการดับเพลิงที่อยู่ใต้ท้องเรือทั้งหมด สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบังจะส่งไปบำบัดที่โรงงานรับบำบัดน้ำเสียของบริษัท สยามเอ็นไวรอนเมนทอล เทคโนโลยี จำกัด ทะเบียนโรงงานเลขที่ ข3-101-1/41 รย. ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตประกอบการอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียล พาร์ค อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งวันนี้ได้เริ่มขนน้ำเสียไปบำบัดแล้ว