จากกรณีนายศักดิ์ชัย ลีสวรรค์ นายกสมาคม ผู้ประกอบการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ระบุว่า ผู้ประกอบการทุกสายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ NGV ได้รับความเดือดร้อนและทยอยปิดกิจการเพราะขาดทุน
เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ในทางตรงกันข้ามกลับปล่อยลอยตัว NGV จนปัจจุบันราคาขึ้นไปเฉลี่ยอยู่ที่ 15.90 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)
ขณะที่ภาครัฐยังตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ปัจจุบันอยู่ที่ 25.79 บาทต่อลิตร เห็นได้จากราคา NGV ปรับตัวสูงขึ้นถึง 70-80%
ส่งผลให้ปริมาณการใช้ NGV ลดลงอยู่ที่ประมาณ 5,500 ตันต่อวัน มีสัดส่วนประมาณ 6% ของความต้องการใช้ NGV ทั้งประเทศ ส่วนอีก 80-90% ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการ NGV ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา โดยสถานีบริการ NGV ได้ทยอยปิดกิจการไปแล้วกว่า 50 แห่ง จากที่มีอยู่กว่า 500 แห่ง ปัจจุบันเหลือกว่า 400 แห่ง
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ชี้แจงกรณีผู้ประกอบการธุรกิจ NGV ทยอยปิดกิจการเพราะขาดทุน ว่า ภาครัฐมีนโยบายกำหนดราคาขายปลีก NGV เพื่อส่งเสริมการใช้ในภาคขนส่ง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545 ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี ในปี 2546 – 2549 ให้กำหนดราคาขายปลีก NGV ที่ 50 % ของราคาน้ำมันดีเซล และตั้งแต่ปี 2550 – 2552 ได้มีการทยอยปรับราคา NGV ขึ้นจาก 55 % ถึง 65 % ของราคาน้ำมันเบนซิน 91 และเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ครม. มีมติกำหนดให้ตรึงราคา NGV อยู่ที่ 8.50 บาท/กิโลกรัม ในปี 2550 – 2551 และตั้งแต่ปี 2552 ให้ทยอยปรับราคาขึ้นจนลอยตัวเพื่อสะท้อนต้นทุน ในปี 2554 เป็นต้นไป
ซึ่ง ปี 2552 – 2558 รัฐบาลมีนโยบายตรึงราคา NGV ให้ต่ำกว่าต้นทุน จนถึงปี 2559 รัฐบาลมีนโยบายกำหนดราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนจริง มอบให้หลายสถาบันศึกษาทบทวนโครงสร้าง NGV อย่างต่อเนื่อง โดยสรุปผลการศึกษาพบว่าต้นทุนดำเนินการที่แท้จริงสูงกว่าราคาที่รัฐกำหนดประมาณ 1 บาทกว่า
กรณีสถานี NGV ที่ปิดตัวลงจากการสำรวจ พบว่า มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ เป็นพื้นที่อยู่ในทำเลไม่เหมาะสม มีต้นทุนดำเนินการสูง ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้ NGV ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ผู้ใช้ NGV บางส่วนหันไปใช้น้ำมันเชื้อพลิงอื่นแทน เช่น น้ำมันไบโอดีเซล บี 20 ซึ่งรัฐมีนโยบายส่งเสริมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
สำหรับการแก้ไขปัญหา ในปัจจุบันมีผู้สนใจลงทุนสร้างสถานีแนวท่อก๊าซ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า เนื่องจาก NGV เป็นเชื้อพลิงที่สะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกของประชาชน การใช้ NGV ในรถสาธารณะที่วิ่งในเมืองจะช่วยลดมลพิษทางอากาศ ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกใช้เชื้อเพลิงให้เหมาะสมได้
#กรมธุรกิจพลังงาน #ผู้ประกอบการ NGV #ปิดกิจการ #ขาดทุน #ข่าวจริงประเทศไทย #realnewsthailand #ILOVETHAILAND