จากกรณีที่ กรมการขนส่งทางบกได้รับข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะ ขอให้ทบทวนนโยบายเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก ให้เป็นไปโดยภาคสมัครใจ และเรื่องอายุการใช้งานของรถตู้โดยสารจากเดิมกำหนดให้ใช้งาน 10 ปี เป็นให้มีอายุการใช้งาน 12 ปี นั้น
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับกลุ่มตัวแทนผู้ประกอบการรถตู้จากสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เครือข่ายผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะ สมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด และสมาคมรถตู้วีไอพีแห่งประเทศไทย ว่า การหารือในครั้งนี้ได้ข้อสรุปในหลายเรื่องโดยเฉพาะนโยบายการบังคับให้มีการเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะทุกหมวดที่หมดอายุแล้วเปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก หรือมินิบัส หรือไมโครบัส โดยขอให้เป็นภาคสมัครใจของผู้ประกอบการ แต่ยังคงมาตรฐานความปลอดภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด รวมถึงการอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องอายุการใช้งานของรถตู้โดยสารจากเดิมกำหนดอายุการใช้งานจาก 10 ปี ขยายเป็น 12 ปี แต่กรมการขนส่งทางบกต้องการขบวนการตรวจสอบอย่างเข้มงวด
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะที่เปลี่ยนมาใช้รถโดยสารขนาดเล็กแล้วจำนวน 436 คัน ประกอบด้วยรถตู้โดยสารที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หมวด 1 เพียง 11 คัน เป็นรถหมวด 2 ที่วิ่งให้บริการระหว่างกรุงเทพมหานครไปต่างจังหวัดที่ไม่เกิน 300 กิโลเมตร จำนวน 309 คัน และหมวด 3 ที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัด จำนวน 116 คัน ส่วนหมวดที่ 4 ที่วิ่งให้บริการในจังหวัดยังไม่มีการเปลี่ยน เริ่มมีผลบังคับใน ต.ค. นี้
สำหรับประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติได้มอบหมายให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำ Work Shop หาทางแก้ไขปัญหาร่วมกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อหาข้อสรุปภายใน 1 เดือนหลังจากนี้ ทั้งเรื่องขอให้ยกเลิกการควบคุมการขับขี่โดยระบบ GPS ในรถตู้โดยสารสาธารณะที่เชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถของกรมการขนส่งทางบก โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่สามารถยกเลิกได้ เพื่อหาเทคโนโลยีใหม่ที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพมาทดแทนระบบ GPSได้ ซึ่งรวมถึงการนำระบบแอปพลิเคชันมาบริหารจัดการระบบรถตู้โดยสาร เนื่องจากระบบดังกล่าวยังมีความสำคัญในการดูแลผู้โดยสาร รวมถึงมาตรการกำหนดความเร็วของรถตู้โดยสารสาธารณะยังถูกควบคุมไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้ย้ำกับผู้ประกอบการและพนักงานขับรถตู้โดยสารสาธารณะด้วยว่า ทุกแนวทางการแก้ไขปัญหาต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ประชาชนต้องได้รับความสะดวกปลอดภัยอย่างมีคุณภาพ รวมถึงอัตราค่าโดยสารที่สอดคล้องกับต้นทุน ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หากมีมติอนุมัติจะนำไปสู่การปรับแก้ไขกฎหมายและมีผลบังคับใช้ต่อไป