จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ เรื่อง “การยกร่างกฎหมายอิสลาม รวมทั้งเรียกร้องให้คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ตลอดจนพระสงฆ์ รวมตัวกันเรียกร้องให้ออกกฎหมายรับรองศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” เป็นข่าวเก่านำมาเผยแพร่
กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นการนำข่าวสาร ในช่วงปี พ.ศ.2558 มาเผยแพร่ใหม่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ในสภานิติบัญญัติ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับศาสนาอิสลามขึ้น เพื่อศึกษาความจำเป็นและความเหมาะสมของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และอาจจะยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ด้วยหากจำเป็น แต่รับการคัดค้านจากจุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
จึงยุติการดำเนินการไป โดยไม่มีการเสนอร่างกฎหมายฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างกฎหมายที่จะตราขึ้นใหม่แต่อย่างใด
ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องศาสนาอิสลาม จำนวน 4 ฉบับเท่านั้
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489
- พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540
- พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545
สำหรับสาระสำคัญที่ผู้เผยแพร่ข่าวสารอ้างว่า ในกฎหมายฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้จังหวัดที่มีมัสยิดตั้งแต่ 3 แห่ง ตั้งนายกตำบลขึ้นนั้น ก็เป็นการบิดเบือนบทบัญญัติของมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ซึ่งกำหนดว่า ในจังหวัดที่มีมัสยิดจดทะเบียนตั้งแต่ 3 แห่ง ให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จำนวน 9-30 คน (ขึ้นอยู่กับจำนวนมัสยิดในจังหวัดนั้น) ทำหน้าที่ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ในการกำกับดูแลมัสยิดในจังหวัด การส่งเสริมการศึกษา การจัดกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของมุสลิมในจังหวัด และการให้คำปรึกษาหารือในกิจการที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามแก่ส่วนราชการในจังหวัด
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นมุสลิม จำนวน 23 คน และมีสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นมุสลิม 5 คน
ทั้งนี้ เนื้อหาดังกล่าว นอกจากเป็นข่าวเท็จ และบิดเบือนแล้ว ยังเป็นการนำมาเผยแพร่ใหม่ เพื่อสร้างกระแสให้เกิดความเข้าใจผิดต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน ผู้นำเข้าหรือเผยแพร่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป