548 views

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์


นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ชี้แจงกรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. วันที่ 26 พ.ย. 2561 ซึ่งเห็นชอบในหลักการตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) วันที่ 18 มิ.ย. 2561 ในพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) โดยราษฎรผู้อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ ก่อนและหลังมติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย. 2541 ให้มีการสำรวจเตรียมความพร้อมของชุมชน ก่อนที่จะมีการดำเนินการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ตามกฎหมาย ภายหลังที่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ เพื่ออนุญาตให้ราษฎรอยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าอนุรักษ์ได้ โดยยึดหลักการ ดังนี้

1.หลักการจัดการพื้นที่ ภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ โดยจะต้องเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยเดิม และเป็นการให้สิทธิ์ทำกินมิใช่การให้เอกสารสิทธิ์

2.แนวทางการจัดการพื้นที่ คือ การสำรวจการครอบครองที่ดิน และการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อตกลง “แนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์” เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ในรูปแบบการประชาคมของชุมชน

3.เมื่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะนำ “เขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์” ที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันแล้ว พร้อมแผนผังแปลงที่ดินและบัญชีรายชื่อราษฎร มาจัดทำเป็นโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะตราเป็น “พระราชกฤษฎีกา” มีระยะเวลาโครงการฯ ตามพระราชกฤษฎีกาคราวละไม่เกิน 20 ปี เพื่อให้ราษฎรสามารถอยู่อาศัยและทำกินภายในเขตป่าอนุรักษ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ ขั้นตอนการประกาศจัดตั้งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำชุมชน ผ่านความเห็นชอบจาก อปท. ตลอดจนที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ในระดับจังหวัด ก่อนเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าตามขั้นตอน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส