จากกรณีเพจในสื่อโซเชียลมีเดีย ได้กล่าวอ้างว่า กองทัพเรือ เอื้อประโยชน์บริษัทเอกชนในการจัดซื้อเป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่น ด้วยการแก้เอกสารสัญญาสั่งซื้อระบบเป้าบิน Phoenix ราคา 49.8 ล้านบาท พร้อมทั้งกล่าวหาว่าในประเด็นการจัดหาซึ่งระบุว่า “ที่อ้างว่าประหยัดงบประมาณนั้น ก็เพียงแค่ซื้อตรงจากตัวแทนในประเทศไทยก็สามารถซื้อได้เต็มระบบแล้ว ทำไมต้องไปซื้อผ่านตัวแทนช่วง (ซาปั๊ว) ด้วย”
พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงว่า เริ่มแรกของโครงการจัดซื้อเป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่น เป็นการจัดหาเป้าบินฯ จำนวน 3 ระบบ พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ได้จัดหารางปล่อยใน TOR ตั้งแต่แรก เนื่องจากได้มีการสำรวจจากบริษัทต่าง ๆ ในขั้นตอนการสืบราคากลางก่อนเริ่มโครงการ โดยบริษัทต่าง ๆ แจ้งว่ารางปล่อยเดิมของ กองทัพเรือ ที่มีใช้ราชการอยู่สามารถใช้งานกับเป้าบินที่จะจัดหาใหม่ และสามารถใช้กับเป้าบินของเดิมที่ กองทัพเรือ มีประจำการอยู่แล้วได้ เพียงแค่ปรับปรุงเล็กน้อย ซึ่งหาก กองทัพเรือ จัดหารางปล่อยด้วยจะต้องใช้งบประมาณถึง 17 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าโครงการในภาพรวม ซึ่ง กองทัพเรือ พิจารณาแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดหารางปล่อยใหม่ และเป็นการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดในทรัพยากรที่ กองทัพเรือ มีอยู่จริง
สำหรับข้อกล่าวหาว่า “จากเดิมจ่ายเต็ม หากได้รับมอบสินค้าแล้ว แล้วไปตรวจสอบที่โรงงานผู้ผลิตก็ได้เงินแล้ว” ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากขั้นตอนการตรวจรับที่โรงงาน (Factory Acceptance Test : FAT) เป็นขั้นตอนการตรวจสอบชิ้นส่วนการผลิต สายการผลิต และมาตรฐานการผลิตของโรงงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกองทัพเรือ ว่าทางผู้ผลิตมีความพร้อม และมาตรฐานเพียงพอในการดำเนินการโครงการจนแล้วเสร็จ ซึ่งจะได้รับประโยชน์สูงสุด แล้วจึงจ่ายเงินร้อยละ 35 ไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินทั้งหมดทั้งโครงการ ซึ่งการไปทำการ FAT ณ โรงงานผู้ผลิตในครั้งนี้ นอกจากจะไปตรวจสอบมาตรฐานตามที่กล่าวมาแล้ว ทางผู้ผลิตยังได้แสดงสมุดประวัติการทดสอบบิน (Aircraft LOGBOOK) ซึ่งเป็นสมุดประวัติประจำเป้าบินในแต่ละลำที่แสดงเกี่ยวกับการทดสอบทดลองการทำงานของระบบต่าง ๆ ของเป้าบินในระดับโรงงานตามมาตรฐานสากลให้กับผู้แทน กองทัพเรือ (ผู้ช่วยทูตทหารเรือไทย) ได้ตรวจสอบด้วย
สำหรับการจ่ายเงินงวดงานของการทำ FAT โดยผู้แทนของ กองทัพเรือ ณ โรงงานผู้ผลิตรายนี้นั้น ไม่ได้จ่ายโดยทันทีหลังจากการดำเนินการ แต่ กองทัพเรือ ได้จ่ายเงินในงวดการ FAT หลังจากที่เป้าบินทั้ง 3 ลำ พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ถูกจัดส่งมาถึงประเทศไทยและผ่านการตรวจรับอุปกรณ์ตามรายการ และตรวจสอบสมุดประวัดิการทดสอบบิน (Aircraft LOGBOOK) เรียบร้อยแล้ว ในส่วนขั้นตอนการบินทดสอบเพื่อทำการบินจริงเป็นขั้นตอนงวดงานสุดท้าย หรือกระบวนการทำ Setting to work ที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยบริษัทจะเข้าดำเนินการในห้วงเดือน สิงหาคม 2566
นอกจากนี้ การกล่าวอ้างว่า กองทัพเรือ ต้องการจัดซื้อผ่านตัวแทนผู้จำหน่ายที่ได้รับมอบอำนาจตัวแทนช่วง (ซาปั๊ว) ขอชี้แจงว่า ตัวแทนช่วง (ซาปั๊ว) นั้น กองทัพเรือ ได้มีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการแต่งตั้งตัวแทนแล้วพบว่า บริษัทฯ ดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้องจากผู้แทนในประเทศไทย โดยทางบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผู้แทนโดยถูกต้องในประเทศไทยสามารถแต่งตั้งช่วงได้ตามที่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศกำหนดไว้ โครงการดังกล่าวนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างส่งมอบงานงวดสุดท้าย ได้แก่ การทดสอบทดลองการบินจริง (Setting to Work) ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตแจ้งว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญการบินเป้าบินไอพ่นเข้ามาทดสอบทดลองด้วยการบินจริงร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือ ในห้วงเดือน สิงหาคม 2566 และหากทางบริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบงานได้ทันตามกำหนด กรมสรรพาวุธทหารเรือ จะดำเนินการตามระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือจะคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกรณีดังกล่าว กองทัพเรือจะได้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกระบวนการต่อไป