โรคซึมเศร้า เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ยังมีผู้รู้จักโรคนี้ไม่มากนัก บางคนเป็นโดยที่ตัวเองก็ไม่ทันรู้ตัว หรือบางคนก็คิดว่าเป็นเพราะตนเองคิดมากไปเอง ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และทันท่วงที ซึ่งโรคซึมเศร้านั้นสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งทางร่างกายและจิตใจได้มากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายเศร้า วิตกกังวล มีปัญหาเรื่องการทานอาหาร รวมไปถึงการนอนหลับ ร้ายแรงสุดถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายได้เลย
โรคซึมเศร้า หรือ Major depressive disorder เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติ หรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้ป่วยได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ อย่างถูกวิธี
เช็กด่วน! 9 พฤติกรรม เข้าข่ายโรคซึมเศร้า
1.เศร้า เบื่อ หรือหงุดหงิดง่าย
บางคนอาจจะรู้สึกเศร้า เบื่อ ไม่มีความสุข หรืออาจจะรู้สึกโกรธ โมโห หงุดหงิดง่าย โดยมีความรู้สึกเหล่านี้วนเวียนมาอยู่เป็นประจำ เกือบทุกวัน
2.ไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบ
รู้สึกไม่อยากทำงานอดิเรกที่ตนเองเคยชอบทำ เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา อ่านหนังสือ ดูละคร ดูทีวี หรือทำได้แต่รู้สึกไม่สนุกเหมือนเคย
3.เบื่ออาหาร หรือกินมากจนเกินไป
สำหรับบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร เช่น รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง หรือกลับกันบางคนอาจจะรู้สึกเครียด ทำให้ทานอาหารเพิ่มมากขึ้น จนไม่สามารถควบคุมการรับประทานอาหารของตัวเองได้
4.มีปัญหาเรื่องการนอน
บางคนอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการนอน โดยอาจมีอาการนอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หลับยากหรือตรงกันข้ามบางคนอาจจะรู้สึกง่วงเพลียจนอยากนอนทั้งวันก็เป็นได้
5.ทำอะไรช้าลง กระสับกระส่าย
ในผู้ป่วยบางรายอาจจะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรเชื่องช้าลงกว่าที่เคย หรือมีอาการกระวนกระวาย และกระสับกระส่ายอย่างเห็นได้ชัดเจน
6.เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
รู้สึกว่าตัวเองเหนื่อย เพลียง่ายกว่าแต่ก่อน หรือไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
7.รู้สึกไร้ค่า
บางคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มีความหมาย หรือทำอะไรก็ไม่ดีไปเสียหมด ทำให้รู้สึกแย่กับตัวเอง หรือเอาแต่โทษตัวเองในทุก ๆ เรื่อง
8.สมาธิสั้น ความจำแย่ลง
ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตัวเองสมาธิสั้น และความจำแย่ลง ทำให้มีอาการเหม่อลอยหรือใจลอยบ่อย ๆ จนทำให้มีปัญหาด้านการตัดสินใจ และทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเคย
9.คิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง
เริ่มมีการคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง หรือรู้สึกว่าชีวิตมืดมนไปหมดจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ และอาจร้ายแรงไปจนถึงการฆ่าตัวตาย
ซึ่งถ้าหากใครลองเช็กดูแล้วมีอาการตรงกันกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเป็นอยู่ตั้งแต่ 5 อาการขึ้นไป หรือมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันก็ควรจะเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์โดยด่วน เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที
การวินิจฉัยและรักษาโรคซึมเศร้า
สำหรับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเริ่มจากการพูดคุยเพื่อสอบถามอาการ ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ว่ามีความรุนแรงในระดับไหน ซึ่งอาจจะมีการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาร่วมด้วย เพื่อนำผลมาประเมินว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรักษาโดยใช้จิตบำบัด หรือการรักษาด้วยยา เป็นต้น
สรุป
โรคซึมเศร้า หากพยายามช่วยเหลือตนเองหลาย ๆ ด้านเช่น การทำกิจกรรมมากขึ้น ปรับความคิดตนเอง หาเพื่อนหรือที่ปรึกษาช่วยเหลือแล้วยังไม่ดีขึ้น และสังเกตตัวเองพบว่าชีวิตขาดความสมดุล ไม่มีความสุข และมีพฤติกรรมเข้าข่าย 9 ข้อข้างต้นหรือไม่ ซึ่งหากมีมากกว่า 5 ข้อ ก็ควรที่จะเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
ที่มา : อ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
RAMA CHANNEL