จากกรณีชาวบ้านร้องขอให้ตรวจสอบฝายลำพะยัง จ.กาฬสินธุ์ ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่ถึงปี ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่พังเสียหาย ชาวบ้านเกรงว่าฝายจะแตกหากมีน้ำเติมเข้ามาอีก นั้น
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” และพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้มีฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยเฉพาะลุ่มน้ำปาว และลุ่มน้ำยัง จ.กาฬสินธุ์และจ.ร้อยเอ็ด ฝายและลำห้วยต่างๆ มีปริมาณน้ำมากจนเกินความจุของลำน้ำ ทำให้น้ำไหลล้นข้ามคันดิน ประกอบกับน้ำที่ไหลแรงและเชี่ยวได้กัดเซาะคันดินเสียหายไปหลายจุด
สำหรับฝายกั้นน้ำลำพระยังบ้านจอมทอง ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ โครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้รับงบประมาณดำเนินการก่อสร้าง ปี 2561 (เพิ่มเติม) เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ในเดือนพฤษภาคม 2561 แล้วเสร็จสมบูรณ์ ตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 และได้ถ่ายโอนภารกิจให้กับเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562
จากการตรวจสอบ พบว่า ทางลำเลียงชั่วคราวที่ใช้สำหรับขนวัสดุในช่วงเริ่มก่อสร้างโครงการ บริเวณฝายกั้นลำน้ำลำพะยังบ้านจอมทองฝั่งซ้าย ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะต้องรื้อถอนแต่ชาวบ้านขอความอนุเคราะห์ไว้ใช้สัญจรไปมา ได้ถูกน้ำกัดเซาะเสียหาย ความยาวประมาณ 50 เมตร หินเรียง Slope หน้าฝาย มีการทรุดตัวเป็นบางจุด เนื่องจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง บริเวณด้านเหนือฝายกั้นน้ำลำพะยัง ซึ่งมีปริมาณฝนตกสะสม ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. – 4 ก.ย. 62 มากกว่า 530 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำหลากฉลับพลัน ไหลผ่านฝายกั้นน้ำลำพะยัง สูงสุดถึง 542.93 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 จนเกินความจุลำน้ำและล้นตลิ่งข้ามทางลำเลียงชั่วคราว น้ำไหลแรงเกินกว่าที่จะต้านทานได้ จึงได้พัดดินด้านล่างออกไป จึงเกิดการทรุดตัวลงมาตามธรรมชาติ ส่วนดินลูกรังบริเวณคอสะพาน ที่อ้างว่าเกิดการทรุดตัวนั้น สาเหตุเกิดจากมีผู้นำรถเข้ามาเกรดลูกรังบริเวณทุ่นหูฝาย ออกไปเป็นคันแนวทางเชื่อมเข้าที่นาในบริเวณนั้น สำหรับตัวอาคารประกอบไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
ฝายกั้นลำน้ำลำพะยังบ้านมะนาว ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ โครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้รับงบประมาณดำเนินการก่อสร้าง ปี 2561 แล้วเสร็จสมบูรณ์ ตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เดือนกันยายน 2562 ได้รับความเสียหาย คือ คอนกรีตเอ็นบริเวณท้ายฝายแตกและราวเหล็กจำนวน 1 แผง ล้มและหัก คาดว่าถูกกระแทกจากวัตถุแข็งลอยมาตามน้ำ
ขณะที่ สำนักงานชลประทานที่ 6 ยืนยันว่า โครงสร้างหลักและตัวอาคารประกอบฝายยังมีความมั่นคง แข็งแรง พร้อมใช้งานได้ตามปกติ และได้ดำเนินการซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ จากนั้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ได้ถ่ายโอนภารกิจให้กับเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่แล้ว
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังพบว่า มีฝายกั้นลำน้ำลำพะยังบ้านพรหมสว่าง ต.ภูแล่นช้าง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ดำเนินเสร็จแล้ว อยู่ในระหว่างการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่น ซึ่งได้รับผลกระทบ ถูกกระแสน้ำกัดเซาะเสียหายเป็นบางจุดเช่นกัน แต่ยืนยันว่า โครงสร้างหลัก และตัวอาคารประกอบฝายยังมีความมั่นคง แข็งแรง พร้อมใช้งานได้ตามปกติ
สำหรับแนวทางแก้ไข ฝายกั้นลำน้ำลำพะยังบ้านจอมทอง อยู่ในความดูแลของท้องถิ่น ซึ่งในพื้นที่อ.กุฉินารายณ์ และอ.นาคู ได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ การดำเนินการตรวจสอบรายงานความเสียหาย และแก้ไขปัญหาดังกล่าว อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งท้องถิ่นจะได้รายงานให้จังหวัดทราบเพื่อจัดสรรงบประมาณในการซ่อมแซมต่อไป อย่างไรก็ตามสำนักงานชลประทานที่ 6 จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำเพื่อให้การซ่อมแซมเป็นไปหลักวิชาการจนแล้วเสร็จต่อไป
ฝายกั้นลำน้ำลำพะยังบ้านมะนาว ขณะนี้สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ดำเนินการซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ จากนั้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ได้ถ่ายโอนภารกิจให้กับเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ แล้ว
ฝายกั้นลำน้ำลำพะยังบ้านพรหมสว่าง ซึ่งยังไม่ได้ถ่ายโอนภารกิจ โครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 จะเสนอแผนงานซ่อมแซมหลังอุทกภัย ปี 2562 เพื่อเข้าดำเนินการซ่อมแซมต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งรับฟังปัญหาจากชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่างเร่งด่วน และขอเรียนยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วนต่อไป