จากกรณี พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุ กระบวนการชันสูตรศพในไทยมีช่องโหว่ โดยกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องผ่าพิสูจน์ทุกศพที่ตายผิดธรรมชาติ ซึ่งเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ทำให้ไม่ใช่ทุกศพที่ตายผิดธรรมชาติจะได้รับการผ่าพิสูจน์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องงบประมาณ ขณะที่จำนวนแพทย์นิติเวชในไทยเพียงพอในการจัดระเบียบ เพราะมีจำนวนมากกว่า 20 ปีที่แล้ว จึงมองว่าถึงเวลาที่ต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพ เช่น กระทรวงยุติธรรมเข้ามาจัดระเบียบ วางมาตรฐานให้ชัดเจน เพราะเคสจากการใช้สารไซยาไนด์ที่เกิดขึ้น หากได้รับการผ่าพิสูจน์ตั้งแต่เนิ่นๆ จะนำไปสู่การป้องกันเหตุ หรือสืบหาต้นตอของไซยาไนด์ได้
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า การตัดสินใจผ่าพิสูจน์ศพ กรณีที่แพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุการตายที่ชัดเจนได้และเป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน ในฐานะหัวหน้าทีมชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ ล่าสุดจากกรณีฆาตกรรมด้วยไซยาไนด์ที่เกิดขึ้น ได้ปรับแนวทางให้แพทย์ทำการผ่าชันสูตรทุกศพที่ไม่สามารถระบุถึงการเสียชีวิตที่แท้จริงได้ โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย ส่วนการตรวจวิเคราะห์ไซยาไนด์สามารถส่งตรวจได้ที่หน่วยงานของกรมวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
สำหรับกระบวนการและขั้นตอนการพิสูจน์ศพ เมื่อพนักงานสอบสวนไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ จะแจ้งแพทย์ไปร่วมตรวจสอบด้วย โดยอำนาจในการตัดสินใจผ่าพิสูจน์ศพเป็นของพนักงานสอบสวนในฐานะหัวหน้าทีมชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ ซึ่งจะให้มีการผ่าพิสูจน์ เมื่อแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุการตายที่ชัดเจนได้และเป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ 5 ลักษณะ ได้แก่
1.การฆ่าตัวตาย
2.ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
3.ถูกสัตว์ทำร้าย
4.ตายโดยอุบัติเหตุ
5.ตายโดยไม่ปรากฎเหตุ
หากญาติไม่ติดใจการตาย และพนักงานสอบสวนเห็นด้วยกับญาติ ก็จะไม่มีการส่งผ่าพิสูจน์ โดยแพทย์จะทำความเห็นเบื้องต้น เขียนใบรายงานชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ และออกหนังสือรับรองการตาย เพื่อให้ญาตินำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งจะระบุเหตุผลการเสียชีวิตกว้างๆ เช่น ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือหัวใจวายเฉียบพลัน เนื่องจากไม่มีร่องรอยบาดแผล ถูกทำร้าย หรือฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับแนวทางดำเนินการ โดยหากมีการตายที่ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ ให้ผ่าชันสูตรศพทุกราย โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย